เคทีซีเปิดบริการจ่ายด้วย QR Code ใช้วงเงินบัตรเครดิตซื้อของได้ในตลาดนัด

เคทีซีเปิดบริการจ่ายด้วย QR Code ใช้วงเงินบัตรเครดิตซื้อของได้ในตลาดนัด
หมดปัญหาเรื่องขั้นต่ำในการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต เพราะ เคทีซี เพิ่มช่องทางการจ่ายใหม่ด้วยการใช้ QR Code ผ่านแอปพลิเคชันในการชำระเงิน “TapKTC”
หวังสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้วงเงินในบัตรกับร้านค้าขนาดเล็กที่ยังไม่มีเครื่องรูดบัตรเครดิตลงจนถึงร้านค้าในตลาดนัด ด้วยขั้นตอนที่ง่ายและมีความปลอดภัยมากกว่าการรูดบัตร
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการใช้บัตรเครดิตคือข้อกำหนดขั้นต่ำในการรูดบัตรเครดิต ซึ่งบางแห่งอาจจะกลัวว่าการรูดน้อยจะไม่พอกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ธนาคารเจ้าของบัตร หรือไม่คุ้มค่ากับเครื่องรูดบัตรทีต้องเสียเงินซื้อ
แถมยังต้องต่อสายระโยงระยาง จึงตัดสินใจไม่รับบัตรและรับเฉพาะเงินสด ซึ่งเอาท์มาก หรือไม่ก็แก้ปัญหาด้วยการกำหนด 500 บาทบ้าง 300 บาทบ้าง ตามแต่ความคิดถึงจุดคุ้มค่าของแต่ละธุรกิจ
เคทีซี จึงเปิดการใช้จ่ายใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ใช้บัตรสามารถรูดได้หมดวงเงินที่กำหนด แม้จะเหลืออยู่เพียง 50 บาทก็สามารถซื้อชานมไข่มุกได้ ด้วยบริการใหม่รับชำระบัตรเครดิตผ่าน QR Code Payment เป็นรายแรกในไทย
ดีต่อใจร้านค้าที่แม้ว่าจะยังมีค่าธรรมเนียม แต่ก็คาดว่าจะต่ำกว่าค่าธรรมเนียมการรูดบัตรเครดิต แถมยังไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องรูดบัตร ส่วนลูกค้าเองก็ใช้งานง่ายและถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากขึ้น
แต่ที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นเจ้าของบริการอย่าง เคทีซี เพราะจะถือเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งขณะนี้ได้มีการทดลองการใช้งานไปแล้วกับร้านค้ารายย่อยมากๆ
โดยลูกค้าจะสามารถทำรายการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน KTC QR Code Payment ได้ใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ตลาด อตก. ตลาดลุงเพิ่ม (การบินไทย) ตลาดหัวมุม เกษตร-นวมินทร์ และร้านค้าบริเวณซอยสุขุมวิท 31 และซอยสุขุมวิท 33
ซึ่งร้านค้าที่เข้าร่วมในช่วงทดสอบบริการจะเน้นไปที่ร้านค้าขนาดกลางถึงขนาดเล็กที่ยังไม่เคยรับบัตรเครดิตมาก่อน และเป็นร้านค้าที่อยู่ในหมวดการใช้จ่ายในชีวิตประจำวั
ได้แก่ หมวดร้านอาหาร ร้านผลไม้ ร้านขนม ร้านขายของฝาก ร้านเสื้อผ้า ร้านขายเครื่องประดับ เรียกได้ว่านำวงเงินบัตรเครดิตมาให้ใช้แบบลงลึกกว่าที่เคย
วุฒิชัย เจริญผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ไอที “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า QR Code Payment บนโมบายแอปฯ “TapKTC” ได้รับการอนุมัติเข้า Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และจะให้เริ่มทดลองบริการได้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป โดยพร้อมที่จะเพิ่มจำนวนร้านค้าหากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนการจับมือกับพันธมิตรนั้นคาดว่าหลังจากได้รับการรับรองจากวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดภายในต้นเดือนธันวาคมแล้ว จะสามารถร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมใช้บริการนี้ได้
“QR Code Payment ที่เคทีซีจะให้บริการนั้น เป็นการนำมาตรฐานกลางของ QR Code มาใช้กับการชำระเงินทั้งทางด้าน ผู้ถือบัตรและร้านค้าสมาชิกรับบัตร
โดยจะสามารถรองรับการชำระเงินด้วยเครือข่ายบัตรเครดิตทั้งวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด โดยลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตจะสามารถซื้อสินค้าและหรือบริการด้วย QR Code
และทำรายการชำระได้ด้วยตนเอง (Push Payment) ซึ่งแตกต่างจากบริการรับชำระที่ มีอยู่เดิมที่ทางร้านค้าจะเป็นผู้ทำรายการ (Pull Payment)”
โดยนอกจากจะเป็นการขานรับนโยบายสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วยังช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้าที่รับชำระ
รวมถึงลดการใช้พื้นที่ในการวางเครื่องรับบัตรและด้วยความเสถียรในการรับชำระผ่านโมบายแอปฯ จึงสามารถรองรับการใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในแง่ของลูกค้าเองนอกจากจะได้รับความสะดวกในการใช้งานจากการใช้โมบายแอปฯ สแกน QR Code เพื่อชำระแล้ว ยังสามารถได้รับเครดิตในการชำระ เช่นเดียวกับการรูดชำระด้วยบัตรเครดิตตามปกติอีกด้วย
วุฒิชัย กล่าวว่า เคทีซีได้พัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการใช้งานของโลกดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์และมีประสบการณ์ที่ดีจากการใช้บริการ
ไม่ว่าจะเป็นการย้ายและปรับแพลตฟอร์มศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ การปรับโฉมและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในโมบายแอปพลิเคชัน “TapKTC”
พร้อมทั้งการตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้ (Biometrics) เพื่อแสดงตัวตนครบทุกเทคโนโลยี และก่อนหน้านี้กับการใช้ eCoupon จนมาถึงบริการล่าสุดอย่าง QR Code Payment
ด้านธิดา บุณยเลขา ผู้จัดการอาวุโส-ธุรกิจร้านค้า “เคทีซี” กล่าวว่า ร้านค้าที่รับบัตรเครดิตผ่าน QR Code Payment นั้น ร้านค้าสมาชิกที่รับบัตรเครดิตจะสามารถรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตผ่าน QR Code มาตรฐานกลาง
ซึ่งจะให้บริการทั้ง 2 รูปแบบผ่านโปสเตอร์และโมบาย แอปฯ “TapKTC Merchant”โดยจะรองรับรูปแบบของ QR Code ทั้ง 2 รูปแบบ คือ
1.“Static QR Code” เป็น QR Code ที่ระบบสร้างไว้สำหรับการทำรายการได้หลายครั้ง ซึ่งข้อมูล QR Code จะเหมือนเดิมทุกครั้งที่ทำรายการชำระเงิน
2.“Dynamic QR Code” ข้อมูล QR Code จะถูกสร้างใหม่ทุกครั้งที่ทำรายการชำระเงิน โดยสามารถระบุจำนวนเงินลงในข้อมูล QR Code” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ร้านค้าสมาชิกรับบัตรที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กในการรับชำระเงิน
ซึ่งสอดรับกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
“QR Code Payment จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งผู้บริโภค ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนรุ่นใหม่ที่เพียงใช้สมาร์ทโฟนที่ติดตัวสแกน QR Code ก็สามารถชำระเงินได้ เพิ่มความปลอดภัยของการใช้บัตรเครดิต
เนื่องจากลูกค้าไม่ต้องให้ข้อมูลบัตรกับร้านค้าอีกต่อไป และยังสามารถใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการได้หลากหลายมากขึ้นที่ร้านค้าขนาดกลางถึงขนาดเล็กที่ไม่เคยรับบัตรเครดิตมาก่อน
ส่วนตัวผู้ประกอบการร้านค้าเองก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายและให้บริการด้วยช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายขึ้น”

Related Posts