กระทรวงดิจิทัลฯ เผย ผลการติดตั้ง เน็ตประชารัฐ กว่า 80% ของ 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศยังวืด เหตุผู้คนในชุมชนรับรู้ว่ามีแต่ยังใช้ไม่เป็น จึงต้องจับมือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรีเร่งการใช้งาน
พร้อมแบ่งหน้าที่ตามแต่จะถนัดเพื่อผลักดันให้เข้าสู่เป้าหมายกระจายไปสู่กลุ่มผู้นำชุมชน 100,000 คน ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก่อนจะขยายไปสู่ 1,000,000 คนทั่วประเทศ
อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ‘เน็ตประชารัฐ’ นั้น
จากผลการติดตามความก้าวหน้าโครงการในช่วงของการติดตั้งอุปกรณ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่ามีอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้าน แต่ยังไม่ได้ใช้งานในทุกกลุ่มอายุ อาชีพ เนื่องจากไม่ทราบว่าจะใช้อย่างไรและมีประโยชน์กับตนเองอย่างไร การใช้งานส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มเยาวชนและวัยทำงาน
ขณะนี้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยัง 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จมากกว่าร้อยละ 80
ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องพร้อมกับให้เรียนรู้ถึงประโยชน์และโทษของการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความเข้าใจด้านดิจิทัลในภาคประชาชนโดยเร็ว และขยายกลุ่มผู้ใช้งานอย่างทั่วถึง ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับ 3 กระทรวงหลักที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ
ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ในการวางกลไกขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของคนในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้านดิจิทัล และสร้างโอกาสจากการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
โดยได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ ใน 4 วัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1. เพื่อสนับสนุนประชาชนให้เกิดการรับรู้ข้อมูลเน็ตประชารัฐที่ถูกต้อง และการใช้อินเทอร์เน็ตรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการใช้งานอย่างเหมาะสมกับกลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
2. สร้างกลไก เครื่องมือ และเครือข่ายการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในพื้นที่ 3. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4. ดำเนินการอื่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว
อัจฉรินทร์ กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ จะทำหน้าที่ออกแบบหลักสูตร เพื่อสร้างการรับรู้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน พัฒนาวิทยากรแกนนำ ส่งเสริมสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ติดตาม ประเมิน จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ
กระทรวงศึกษาธิการ จะสนับสนุนบุคลากรเข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นวิทยากรสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มผู้นำชุมชน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการรับรู้และการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในรูปแบบต่างๆ จัดให้มีสื่อความรู้อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะจัดให้มีกลไกการสนับสนุน ติดตาม กำกับ ดูแล ส่งเสริมการสร้างการรับรู้ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอและหมู่บ้าน โดยมีหน่วยงานในจังหวัดร่วมขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการจังหวัด ตลอดจนอำนวยการให้เกิดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ
ด้านสำนักนายกรัฐมนตรี จะส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารภาครัฐสำหรับประชาชน และสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐผ่านสื่อต่างๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสถาบันวิชาการทีโอที บมจ.ทีโอที จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐแก่ประชาชน
ซึ่งจะเน้นการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และมุ่งเน้นการประสานงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่ชุมชน
สำหรับกิจกรรมการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้ด้านดิจิทัลและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ และการส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐแก่วิทยากรแกนนำเน็ตประชารัฐ
เพื่อให้ทำหน้าที่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ และการใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับพื้นฐาน ให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนจาก 24,700 หมู่บ้าน และสามารถต่อยอดการเรียนรู้ และสร้างประโยชน์ได้ด้วยตนเอง
ตั้งเป้าสู่เป้าหมายกระจายไปสู่กลุ่มผู้นำชุมชน 100,000 คน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้ทั้ง 100,000 คนนี้ ไปสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐในหมู่บ้านตนเองอีกไม่น้อยกว่า 1,000,000 คนทั่วประเทศต่อไป