แคทรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติสร้างกิจกรรมขยายโครงข่าย LoRaWAN

แคทรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติสร้างกิจกรรมขยายโครงข่าย LoRaWAN
การเดินหน้าขยายโครงข่าย LoRaWAN ของแคท ซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ของการสร้างรายได้ในอนาคตนั้น เรียกได้ว่ามีการกระตุ้นการทำกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งแคทพร้อมให้บริการ IoT ในรูปแบบของโซลูชันเซอร์วิส ด้วยการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่มีพร้อมทั้ง ไอโอทีเน็ตเวิร์ก เซอร์วิสแพลตฟอร์ม เอไอ แอพพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ และคลาวด์
ล่าสุดแคทได้จับมือกับสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA) คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วิทยาเขตปราจีนบุรี) และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สร้างความร่วมมือในการจัดประชันทักษะทางด้านสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12
พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT กล่าวว่า เป้าหมายเรื่อง LoRaWAN (Long-Range Wide Area Network) นั้น แคทต้องการวางโครงข่ายทั้งประเทศด้วยการสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานให้มากขึ้น
และความร่วมมือครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นการสนับสนุนโครงข่าย IoT บนเทคโนโลยี LoRaWAN เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันนำไปพัฒนาระบบสมองกลบนโครงข่าย LoRaWAN รวมถึงเป็นการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวเพิ่มมากขึ้
“พันธกิจของแคทส่วนหนึ่งเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากร การต่อยอดสิ่งนี้จะเป็นการต่อยอดสิ่งที่ควรส่งเสริม เพราะถ้าไม่มีกิจกรรมพวกนี้ การเรียนจะเป็นรูปแบบเดิมๆ ต่างคนต่างคิด ไม่ได้ทำตามที่ดีมานด์ตลาดต้องการ เป็นการต่อยอดความคิดให้เติบโตต่อไปได้
อยากให้เรียนรู้ด้วยการกระทำ ซึ่งอาจจะไปทำธุรกิจเอง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อขานตอบต่อนโยบายภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0
“เราเสมือนเป็นผู้ดึงผู้ที่ต้องการใช้งานมา เป็นเสมือนคนกลางเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมด้านนี้ “
โครงการ TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 12 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 7-13 มกราคม 2561 ณ ณ ค่ายเยาวชนสุรัสวดี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นั้น ทาง CAT ได้จัดให้มีการทดสอบการกระจายสัญญาณของโครงข่าย LoRaWAN เป็นระยะๆ
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการกระจายสัญญาณ พร้อมกันนี้เตรียมที่จะนำรถถ่ายทอดสัญญาณเคลื่อนที่ ตลอดจนอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ขึ้นไปทดสอบยังจุดที่ใช้ในการแข่งขันอีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2560
เพื่อทำการทดสอบการทำงานของ sensor แต่ละตัวให้มีประสิทธิภาพ และพร้อมปล่อยสัญญาณอย่างมีเสถียรภาพ ครอบคลุมพื้นของการแข่งขันในรัศมี 5 กม
พันเอกสรรพชัย กล่าวว่า การแข่งขันได้จัดขึ้นในหัวข้อ ระบบอัจฉริยะสำหรับอุทยานแห่งชาติ 4.0 (Smart National Park 4.0 : Universal National Park Box : UNPBox) โดยตลอดระยะเวลาของการจัดโครงการ จะจัดให้มีการอบรมในทุกหัวข้อก่อนการแข่งขัน
อาทิ จัดอบรม Project Management, หลักการส่งค่าต่างๆ, Data Analytic, LoRa Server Setting เป็นต้น
“ทุกคนจะได้ความรู้และความเข้าใจก่อนการใช้งานจริง ให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ ตลอดจนได้ฝึกใช้เครื่องมือซอฟต์แวร์ในระดับมิดเดิลแวร์ เช่น ระบบปฏิบัติการทันเวลา โพรโทคอลสแตก การประมวลผลสัญญาณ ตลอดจนการทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้มีนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 201 คน จำนวน 40 ทีม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ ร่วม 30 มหาวิทยาลัย
สำหรับทีมที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศจะได้รับเงินสด 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 20,000 บาท โดยทุกลำดับจะได้รับมอบทุนการศึกษาพร้อมโล่รางวัล

Related Posts