กสทช. เผยตัวเลขความเสี่ยงของไทยในโลก ไซเบอร์ พบกว่า 3,006 ครั้ง วอนตระหนักถึงความเสี่ยงออนไลน์เสมอ พร้อมจัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ “NBTC International Conference on Policy for Cyber Sustainability – A Global View” ถกประเด็นการป้องกันภัยทางไซเบอร์ หลังภาครัฐและเอกชนถูกจารกรรมข้อมูลได้ง่ายขึ้น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวในงานประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ “NBTC International Conference on Policy for Cyber Sustainability – A Global View”ว่า ปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นหนึ่งหัวข้อสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ ของโลกให้ความสนใจ ซึ่งสำนักงานกสทช.เป็นองค์กรอิสระที่พยายามกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมระมัดระวังเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ เนื่องจากทุกวันนี้เป็นประเด็นสำคัญในสังคมดิจิทัล
โดยศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ไทยเซิร์ต (ThaiCERT) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานจำนวนความเสี่ยงทางไซเบอร์ของไทย ตั้งแต่ม.ค.-พ.ย.2560 มีจำนวนรวมถึง 3,006 ครั้ง
ซึ่ง 5 อันดับของประเภทความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้แก่ การพยายามเข้ามาเจาะข้อมูล 29% ,การหลอกลวง 25% ,การแทรกแซง 19% และการโจมตีบนระบบบริการของคอมพิวเตอร์ 18% และการโจมตีด้วยการเข้ารหัสอันตราย 8% โดยความเสี่ยงบนไซเบอร์เกิดขึ้นได้ทุกนาที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงบนออนไลน์เสมอ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงได้ร่วมกับองค์กร International Telecommunications Society หรือสมาคม ITS ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา จัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ “NBTC International Conference on Policy for Cyber Sustainability – A Global View”
โดยเน้นหัวข้อเรื่องความปลอดภัยทาง ไซเบอร์ ที่ปัจจุบันเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก เนื่องจากพบว่า สถานการณ์ด้านการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลทั้งของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมีจำนวนมากขึ้น เว็บไซต์ของราชการได้ถูกจารกรรมข้อมูล เปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ คัดลอกสำเนาเอกสาร และถึงขั้นถูกลักลอบถ่ายโอนข้อมูลทางราชการ
การประชุมครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านโทรคมนาคม และเป็นการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติในหัวข้อที่สำคัญเกี่ยวกับโทรคมนาคม โดยบรรจุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ผ่านกรณีศึกษาของทั่วโลกที่เกิดขึ้น และศึกษารูปแบบในการโจมตีต่าง ๆ
อาทิเช่น การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เบื้องต้น Cyber Security กับมุมมองในระดับโลกและความท้าทาย กรณีตัวอย่างการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอดีต เป็นต้น
โดยมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงองค์การระหว่างประเทศและผู้แทนจากต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมกว่า 100 คน