จับเข่าคุย “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี” ผลงาน ปีนี้ทำอะไร แล้วปีหน้าจะไปทางไหนต่อ

จับเข่าคุย “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี” ผลงาน ปีนี้ทำอะไร แล้วปีหน้าจะไปทางไหนต่อ

ผ่านไปอีก 1 ปีกับการทำงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในปีทีผ่านมา และถือเป็นการอยูุ่ในตำแหน่งอีกปีของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ที่ยังจะต้องสานงานที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ต่อไปอีก Thereporter.asia มีโอกาสได้พูดคุยอย่างใกล้ชิด ถึง ผลงาน ที่ผ่านมาในปี 2560 และสิ่งที่จะทำต่อในปี 2561

Thereporter.asia : ผลงาน ในปีที่ผ่านมากระทรวงดีอีดำเนินนโยบายใดบ้างและสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : กระทรวงได้ดำเนินการใน 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4. ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และ 6. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางการพัฒนาของภาครัฐ ได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ขึ้น เพื่อยกระดับภาครัฐของไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

Thereporter.asia : โครงการเด่นๆ ที่พอจะยกเป็นโครงการไฮไลต์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : โครงการเน็ตประชารัฐถือว่าเป็นโครงการที่โดดเด่น เพราะถือเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ต

โดยได้มีการติดตั้งโครงข่ายแล้วเสร็จครบทั้ง 24,700 หมู่บ้าน พร้อมจุดให้บริการ Wi-Fi เพื่อประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหมู่บ้านละ 1 จุดแล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐในการส่งเสริมการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน รวมถึงใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ทั้ง การศึกษา การรับบริการทางการแพทย์ การเกษตร การท่องเที่ยว ฯลฯ

นอกจากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมแล้ว ยังได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ e-Commerce เพื่อเพิ่มมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ดำเนินการเพิ่มผู้ประกอบการ e-Commerce หน้าใหม่จากการทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุน SMEs

ผลักดันมาตรการและแนวทางที่จะช่วยให้เกิดความสะดวก และสร้างโอกาสในการทำธุรกรรมทางออนไลน์มากขึ้นในโครงการ SMEs go Online เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 21,600 ราย เพื่อขายของผ่าน e-Marketplace ต่างๆ ในประเทศไทยและขายออนไลน์ได้

Thereporter.asia : ในการดำเนินงานเชิงนโยบายได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (บอร์ดดีอี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการเฉพาะด้านทำหน้าที่ช่วยเหลือบอร์ดดีอี เพื่อชี้นำทิศทางของการพัฒนาให้แก่หน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

รวมทั้งกำหนดนโยบายสนับสนุนด้านการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) นวัตกรรม (Innovation) จัดหาตลาดให้แก่เอกชน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง และพัฒนาคนไทยที่มีความสามารถ

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้เปิดศูนย์ รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ (Online Complaint Center หรือ OCC) ซึ่งมีการลงนามใน MOU “การรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์อย่างครบวงจร 1212 OCC” ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

รวมทั้งผลักดันการทำงานเชิงรุกของ “ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย” หรือ “ไทยเซิร์ต” (ThaiCERT) ซึ่งเป็นกลไกหลักของประเทศด้านความมั่นคงปลอดภัยของสังคมออนไลน์ โดยมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศและเครือข่ายเซิร์ต ติดตามสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง

Thereporter.asia : มีการปรับ-แก้ กฎหมายในส่วนใดบ้างหรือไม่

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ด้านกฎหมาย กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 10 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการโดยให้รับข้อสังเกตและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

โดยมีการรวมร่างกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกัน และแยกร่างกฎหมายบางฉบับ เป็นผลให้มีกฎหมายตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 8 ฉบับ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งได้ประกาศใช้แล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 2. กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. และ 3. กลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….

Thereporter.asia : งานต่อเนื่องอย่างนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สู่รัฐบาลดิจิทัลคืบหน้าไปถึงไหน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ในปีที่ผ่านมา กระทรวงดีอีได้เร่งวางเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (GIN) ให้ครอบคลุมไปยังหน่วยงานภาครัฐระดับกรมแล้วกว่าร้อยละ 99 และครอบคลุมจุดติดตั้งทั่วประเทศ 3,239 หน่วยงาน

รวมทั้งดึงระบบงานด้านยุทธศาสตร์หลักภาครัฐมาใช้งานร่วมกันบนเครือข่าย GIN และการมีระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานสากล

ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดหรือตรวจสอบได้ เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาบริการดิจิทัลไปสู่กลุ่มผู้รับบริการต่างๆ อาทิ การให้บริการของรัฐสู่ประชาชนโดยตรง (G2C) ผ่านศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) การให้บริการระหว่างรัฐด้วยกันเอง (G2G) ผ่านระบบ G-Chat และ MailGoThai การให้บริการแก่ภาคธุรกิจ (G2B) ผ่านศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) เป็นต้น

Thereporter.asia : ปีหน้าจะต่อยอดนโยบายใดบ้าง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : โครงการแรกในปี 2561 นั้นจะเริ่ม “โครงการเน็ตประชารัฐ” ภายหลังการดำเนินงานติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเสร็จสิ้นแล้ว จะเน้นสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยจัดทำโครงการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานแก่ประชาชน รวมทั้งโครงการสำรวจและประเมินผลการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ

โดยแผนงานในระยะแรกเป็นโครงการต่อเนื่อง (ตุลาคม 2560 – มีนาคม 2561) ที่จะร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานในสังกัด อาทิ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นต้น

ตลอดจนพันธมิตรภาคเอกชนต่างๆ ดำเนินงานสร้างการรับรู้และการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ยังจะทำการนำระบบ e-Commerce สู่ชุมชน เกิดการสร้างงานนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ส่งผลให้การรักษาพยาบาลทั่วถึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบ e-Learning เพื่อสร้างการเรียนรู้และการรับข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกที่ให้กับชุมชน รวมถึงบริการภาครัฐ e-Government เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดเวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ ของประชาชน

การส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีโอกาสเรียนรู้วิธีการค้าขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านโครงการ Village e-Commerce ด้วยการใช้ประโยชน์ต่อยอดจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในระดับหมู่บ้านเพื่อการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยมอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พร้อมกิจกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ SMEs และธุรกิจเกิดใหม่ มีเป้าหมายส่งเสริมและสร้างศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ SMEs และธุรกิจดิจิทัลเกิดใหม่ (TechStartup) ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งนี้ยังปรับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเดิมเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีบริการด้านดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารเชิงเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชน วิสาหกิจชุมชน เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและการบริหารประเทศ มีการจัดกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดร้านค้าออนไลน์ การปรับปรุงสินค้า/บริการ การสื่อสาร และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล เป็นต้น

รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมีเป้าหมายนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ เน้นให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนจากทั้งไทยและต่างชาติ โดยนำร่องในจังหวัดภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ เพื่อเป็นจังหวัดตัวอย่างของการพัฒนา Smart City สำหรับการดำเนินการในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป

ในส่วนของ “โครงการเคเบิลใต้น้ำ” (ASEAN Digital Hub) กระทรวงฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของการเพิ่ม Capacity และเรื่องการเชื่อมต่อให้กว้างมากขึ้น ทั้งกลุ่มประเทศ CLMV และ One belt One road เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีโครงข่ายเชื่อมต่อโดยตรงกับศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของโลก ทำให้มีเสถียรภาพ และมีความจุเพียงพอรองรับความต้องการของประเทศ

ลดต้นทุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนถูกลง รวมทั้งยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต หรือศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

Thereporter.asia : โครงการที่น่าจับตาอย่าง EEC คืบหน้าไปอย่างไร

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ในส่วนของงานด้านระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กระทรวงฯ ได้ผลักดันการพัฒนาคลัสเตอร์ดิจิทัลตามนโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ Super Cluster เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จำเป็นต้องมีการส่งเสริมภายในพื้นที่คลัสเตอร์ดิจิทัล

เพื่อให้เป็นฐานการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศและธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญระดับโลก

รวมถึงการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรับจ้างผลิต (outsource) ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญของภูมิภาค โดยการขับเคลื่อนกิจกรรม Smart Thailand ผ่านวิธีการร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมโลก ผ่านโครงการที่สำคัญ คือ โครงการ Digital Park Thailand โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

โดยในระยะแรกจะเร่งดำเนินการสร้างส่วนที่เป็นกายภาพให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น สิ่งปลูกสร้างต่างๆ และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงการสร้าง IoT Institute ในพื้นที่ดังกล่าวในระยะต่อไป

Thereporter.asia : หนุนโครงการด้านอีคอมเมิร์ซแล้วด้านความปลอดภัยทำอะไรบ้าง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ทางด้าน Cyber Security นั้นได้ทำการพัฒนากฎหมายดิจิทัลที่สำคัญ รวมไปถึงกฎหมายฉบับหลักที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา การพิจารณาออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ รวมทั้งงานตามภารกิจด้าน Cyber Security เช่น การดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบรวมศูนย์จากเครื่องพิสูจน์หลักฐานโทรศัพท์มือถือ การจัดหาระบบสืบค้น วิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การจัดหาระบบสืบค้นเสียงในคลิปวิดีโอ วิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การจัดหาระบบค้นหาเปรียบเทียบใบหน้าคนร้ายจากไฟล์วีดีโอ

โครงการศูนย์ข้อมูล Big Data และวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โครงการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Trade Facilitation) โครงการศูนย์กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Law Center) โครงการสนับสนุนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย (Cybersecurity Missions) โครงการส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในส่วนของการบริการภาครัฐ กระทรวงฯ จะผลักดันการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบสนับสนุนงานบริการประชาชนในการใช้บริการของรัฐ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการเริ่มต้นธุรกิจ และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการลดสำเนาเมื่อติดต่อหรือใช้บริการของรัฐ

การผลักดันชุดกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ลดขั้นตอนและกระบวนการในการอนุญาต รับแจ้ง อนุมัติ ของหน่วยงานราชการ เพื่อลดอุปสรรค เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยลดกระบวนการและการใช้เอกสารที่ซับซ้อน อำนวยความสะดวกการบริการประชาชนและภาคธุรกิจ ลดขั้นตอนการดำเนินงานให้มีความรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

Thereporter.asia : ปีหน้าจะมีงานใหญ่แบบ Big Bang อีกไหม

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ : ในปีที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดงาน “Digital Thailand Big Bang 2017 : Digital Transformation Thailand ซึ่งเป็นงานมหกรรมการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีในงานดังกล่าว

เพื่อต่อยอดสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจด้านดิจิทัลในไทย มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศตอบรับเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

สำหรับในปีนี้จะมีการดำเนินงาน World Expo ของประเทศไทย โดยจะไปตั้งพาวิลเลียนที่ประเทศดูไบ ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 เป็นช่วงของการเตรียมงานและสถานที่ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นปีที่มีการจัดงานดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ และการจัดการประชุมสมัชชา (General Assembly : GA) สมัยที่ 14 และการประชุมคณะกรรมการจัดการ (Management Committee : MC) สมัยที่ 41 ขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) ผลักดันการทำงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

Related Posts