ทีโอทีเตรียมส่งเอกสารเพิ่มเรื่องคลื่น 2300MHz หวังคลายปมยื้อคลื่นให้ดีแทค

ทีโอทีเตรียมส่งเอกสารเพิ่มเรื่องคลื่น 2300MHz หวังคลายปมยื้อคลื่นให้ดีแทค

ทีโอที อยากจบปัญหาคลื่น 2300 MHz ที่จะทำร่วมกับดีแทค เพราะยิ่งกสทช.ยื้อก็ทำให้รายได้หดแถมขาดทุนเพิ่ม เตรียมส่งเอกสารเพิ่มเติมชี้แจงกสทช.ว่า คลื่น 2300 MHz ทำได้ทั้งฟิกซ์และโมบายล์ หวังเคลียร์ให้ชัดตามข้อสงสัยเพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน

แต่จะไม่ทำการแก้ไขสัญญาเพราะเท่ากับเป็นการนับหนึ่งใหม่ ด้านกสทช.เริ่มอ่อนพร้อมระบุหากปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญาฯให้เรียบร้อยก็จะดำเนินเรื่องตามขั้นตอนและจะลงนามในร่างสัญญาฯได้

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่อนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกฝ่ายบริหารให้ชี้แจงเรื่องร่างสัญญาคลื่น 2300 MHz เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น

ที่ประชุมยังมีข้อสงสัยว่าคลื่นดังกล่าวสามารถให้บริการแบบโมบายล์ได้หรือไม่ ดังนั้นทีโอทีจะดำเนินการส่งเอกสารชี้แจงกสทช. เพื่ออธิบายเพิ่มเติมว่าคลื่น 2300 MHz สามารถให้บริการได้ทั้งฟิกซ์ และโมบาย

โดยเอกสาร F1399.1 ของมาตรฐาน ITU-R ได้ให้คำอธิบายว่า Broadband Wireless Access (BWA) คือการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความเร็วสูงกว่า 2 Mbps ซึ่งเป็นไปได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Fixed Wireless Access (FWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบประจำที่

2. Mobile Wireless Access (MWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบเคลื่อนที่ และ 3. Nomadic Wireless Access (NWA) คือการเชื่อมต่อไร้สายแบบกึ่งเคลื่อนที่ ซึ่ง บมจ.ทีโอที ได้ปฏิบัติตามมติ กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ส่วนรูปแบบธุรกิจนั้น ทีโอที จะเช่าอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ 2300 MHz จากคู่ค้าและนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ดังกล่าว จากนั้นจึงนำความจุโครงข่ายที่ได้มาดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง (โดยแบ่งเป็นความจุเป็น 40:60)

ทั้งนี้ ตามแผนธุรกิจความจุโครงข่าย 40% จะถูกแบ่งเป็น 2 บริการ คือ 1.บริการ Mobile Broadband (MBB) 20% เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงให้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน (MVNO)

2.บริการ Fixed Wireless Broadband (FWB) อีก 20% เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าบรอดแบนด์ของ ทีโอที และตอบสนองการดำเนินงานตามนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ของรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนความจุอีก 60 %ทีโอที จะนำไปให้บริการร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าในรูปแบบบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming)

หรือขายส่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นรูปแบบของการให้บริการที่เป็นไปตามประกาศ กสทช. เช่นเดียวกับการให้บริการร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นในปัจจุบัน

“เราต้องส่งเอกสารให้กสทช.เข้าใจว่าเราทำได้ แต่หากกสทช.ยังมีเงื่อนไขให้ปรับแก้ในร่างสัญญาให้ชัดเจนกว่านี้ คิดว่าคงทำไม่ได้ เพราะสิ่งที่กำลังอธิบายเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว หากต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างสัญญาใหม่แล้วส่งให้อัยการดูใหม่อีก

ก็อาจจะสงสัยว่าคืออะไร ซึ่งเชื่อว่าอัยการจะพิจารณาคลื่น 2300 MHz เหมือนกับ คลื่น 2100 MHz ที่ทำกับเอไอเอสที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าทำได้”

นายมนต์ชัย กล่าวว่า หากปีนี้ได้เซ็นสัญญากับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะทำให้ทีโอทีขาดทุนเพียง 900 ล้านบาท จากปีนี้ที่ขาดทุนอยู่ 4,800 ล้านบาท เพราะต้องเสียค่าปรับในคดีภาษีสรรพสามิต

แต่ทีโอทีจะสามารถบริหารจัดการประสิทธิภาพองค์กรไม่ให้ขาดทุนได้ และหากไม่ได้ปีหน้าทีโอทีจะสูญเสียรายได้ 4,510 ล้านบาท ไม่นับรวมความเสียหายในปีนี้ที่หากได้เซ็นสัญญาในเดือนต.ค. 2560 ที่เดือนละ 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทีโอทียังมีงบประมาณที่ขออนุมัติจากสภาพัฒน์ 400 ล้านบาท เพื่อทำเสา 2300 MHz จำนวน 400 ต้น อยู่ ซึ่งขณะนั้นทีโอทีตั้งใจลงทุนแบบฟิกซ์เอง แต่เมื่อได้ดีแทคมาเป็นพันธมิตร จึงมีแนวคิดในการลงทุนร่วมกันนั้น หากแผนการทำธุรกิจกับดีแทคไม่คืบทีโอทีคงต้องรีบลงทุนก่อนที่จะต้องทำเรื่องคืนงบประมาณในกลางปีหน้า

ทั้งนี้ในส่วนของกรณีสัญญาการบริการข้ามโครงข่ายมือถือภายในประเทศ และสัญญาการเช่าอุปกรณ์โทรคมนาคม บนคลื่น 2100 เมกะเฮิร์ตซ กับบริษัท แอดวานซ์ ไวเลส เน็ตเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองนั้น

ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตรวจร่างสัญญาเสร็จแล้วและส่งคืนมายังทีโอทีเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทีโอทีกับเอไอเอสสามารถลงนามในสัญญาฉบับจริงได้ทันที ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ธ.ค.2560นี้ จะสามารถลงนามร่วมกันได้ ทั้งนี้คาดว่าหลังลงนามและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วทีโอทีจะมีรายได้อยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากตรวจร่างสัญญาฯแล้วพบว่ายังมีรายละเอียดทางเทคนิคบางส่วนที่ไม่สอดกับที่ระบุในรายงานการประชุมของกรรมการกสทช.

ซึ่งในรายงานการประชุมเดิมของกทค.และบอร์ดใหญ่ ได้มีการระบุเทคโนโลยีที่ทั้งสองบริษัทจะนำไปให้บริการได้ไว้ชัดเจน โดยคลื่นย่าน 2300 MHz ไว้ใช้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ไม่สามารถเอาไปให้บริการด้วยเสียงได้

ทั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมจะประชุมพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งช่วงวันที่7หรือ8 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะสรุปเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 13 ธ.ค. โดยเบื้องต้นคาดว่าบอร์ดจะให้ความเห็นชอบร่างสัญญาฯ โดยมีข้อสังเกตแนบท้ายรายงานการประชุมของบอร์ดกสทช. ประมาณ 6-7 ข้อระบุว่าการนำคลื่นย่าน 2300 MHz ไปให้บริการของสองบริษัทเป็นสิ่งทำได้แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญาฯให้เรียบร้อย

จากนั้นจึงส่งให้อัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)พิจารณาก่อนจะลงนามในร่างสัญญาฯได้

สำหรับเรื่องคลื่น 2300 MHz ที่ทีโอทีจะทำร่วมกับดีแทคดังกล่าวนั้น มีการลือกันอย่างหนาหูว่าส่วนหนึ่งของการยืดเยื้อมาจากคู่แข่งทางธุรกิจบางราย ที่ไม่ต้องการให้ดีแทคได้คลื่นไป เพราะจะทำให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน จึงพยายามชักนำให้กสทช.ไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ จนต้องรอถึงการประมูลคลื่นใหม่ในปีหน้า

Related Posts