บทบาทใหม่ของ CAT กับรูปแบบบริการดิจิทัลที่ตรงใจลูกค้า

บทบาทใหม่ของ CAT กับรูปแบบบริการดิจิทัลที่ตรงใจลูกค้า

ในอดีตเมื่อเราพูดถึงบริการของ กสท โทรคมนาคม เราก็จะนึกถึงแต่บริหารแบบพื้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการแค่ในขณะนั้น แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่การแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นมีการปรับรูปแบบของธุรกิจของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ใหม่ ทำให้วันนี้เราเริ่มจะเห็นการบริหารงานของ CAT ในทิศทางที่เปลี่ยนไป และเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น

เริ่มตั้งแต่การปรับตัวจากเดิมที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายพื้นฐานเป็นหลักมาเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่พร้อมจะร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลในระดับโลก ทั้งผู้ให้บริการคอนเทนต์แพลตฟอร์มที่หลากหลาย เพื่อนำเสนอบริการดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ตรงความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มองค์กร ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้าด้วยการใช้ Big data และนำไปวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในการปรับปรุงบริการของธุรกิจ

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันดิจิทัลทรานฟอร์เมชันเข้ามามีบทบาทมาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการใช้บริการที่ทำให้งานสำเร็จ เราจึงนำมาดีไซน์เป็นโปรดักส์กับเซอร์วิสต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ซึ่ง กสท โทรคมนาคม มีทั้งโครงข่ายที่มีพร้อมและทีมการตลาดที่แข็งแกร่ง รวมทั้งยังมีสำนักงานขายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถให้บริการลูกค้าในรูปแบบเอกชนที่มีความคล่องตัว และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการได้เช่นเดียวกัน

“เราจะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลและโทรคมนาคม Digital Service Provider นำเสนอบริการอย่าง คลาวด์เซอร์วิส ดิจิทัลเซอร์วิส อี-บิสิเนส ดาต้าเซ็นเตอร์ บิ๊กดาต้า และ IoTเน้นความยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า ด้วยทีมการตลาดขายที่เชี่ยวชาญ พัฒนาให้เซลล์เน้นการให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า

ในขณะที่บุคลากรหลังบ้านต้องปรับให้เป็นดิจิทัล ควบคู่กับการสร้างช่องทางออนไลน์สื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งลูกค้าจะสามารถติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กได้มากขึ้น หรือการสร้างแชตบอทเพื่อตอบข้อสงสัยกับลูกค้า”

โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี นับจากนี้ รายได้ที่มาจากบริการดิจิทัลเซอร์วิสจะโตขึ้นหนึ่งเท่าตัว โดยรายได้รวมปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 49,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจสื่อสารข้อมูลอินเทอร์เน็ต (การใช้งานดาต้า, วอยซ์, บริการดิจิทัล และดาต้าเซ็นเตอร์) อยู่ที่ 9,500 ล้านบาท

รายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่เทเลคอม 2,400 ล้านบาท และรายได้จากสัมปทาน 12,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 นี้บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้บริการดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท หรือเติบโต 30% จากปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านบาท

ดร.ดนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าในกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจที่มีการโต และมีการปรับตัวเพื่อการเติบโต เราจึงต้องพร้อมที่จะเข้าไปนำเสนอบริการที่ตรงใจและเหมาะสม อย่างเช่น ระบบอินเทอร์เน็ตที่ลูกค้าต้องการเซอร์วิสที่มีประสิทธิภาพสูง ถ้าดาวน์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค่อนข้างมาก เราจะสามารถตอบสสนองความต้องการได้และมีต้นทุนที่ดีต่อธุรกิจ

โดย CAT มีพรีเมียมอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ แบรนด์ C internet ที่จะเจาะกลุ่มตลาด Niche ในพื้นที่ที่ กสท โทรคมนาคม มีบริการเข้าถึง โดยใช้คอนเซ็ปต์ Product design ที่จะออกแบบบริการ/ผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างในรูปแบบ Customize หรือ Pay per Use ที่เน้นความคุ้มค่าสูงสุดแก่ลูกค้า และแพ็คเกจที่ลูกค้าใช้งานได้ตรงความต้องการมากที่สุด

“C internet จะไม่เล่นตลาด Mass และไม่เน้นแข่งที่ราคาเนื่องจากมองว่าตลาด Mass อิ่มตัว ขณะที่ตลาดองค์กรธุรกิจจะปรับเปลี่ยนใช้บริการใหม่ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนในการแข่งขัน CAT จะนำเสนอการออกแบบแพ็คเกจ จุดติดตั้งที่ให้ประสิทธิภาพการกระจายสัญญาณสูงสุด

รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์เสริมให้เพิ่มความลื่นไหลไม่สะสุดทุกการใช้งานรองรับทั้ง การทำงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว สามารถเลือกใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการตอบสนองไลฟ์สไตล์เฉพาะของแต่ละกลุ่มได้อย่างง่ายดาย ตรงกับความต้องการใช้งานจริง ”

ดร.ดนันท์ กล่าวว่า ในส่วนของกลยุทธ์ที่จะมาเสริมความเข้มแข็งนั้น กสท โทรคมนาคม ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลในระดับโลก เช่น ผู้ให้บริการคอนเทนท์แพลทฟอร์มรูปแบบต่างๆ โดยนำจุดเด่นคือความเป็น Local Implementer ที่มีทั้งโครงข่ายพร้อมทีมการตลาดและสำนักงานขายทั่วประเทศ

เพื่อที่จะวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและเลือกนำเสนอบริการดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ตรงความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ และมุ่งเป้าหมายการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า เช่น การใช้ Big data ในการปรับปรุงบริการของธุรกิจบริการต่างๆ

ทั้งนี้ยังได้จับมือกับธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่ด้านสื่อสารโทรคมนาคม โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เป็นต้น

เนื่องจากมองว่าพาร์ทเนอร์เหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เหมาะสมกับเรา ทำให้เราสามารถให้บริการกับลูกค้าได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวเข้าไปให้บริการในอีอีซีในอนาคตอันใกล้นี้

Related Posts