‘บาทฟินเทค’ เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลบนมาตรฐานบล็อกเชน พร้อมสนับสนุนอีคอมเมิร์ชอย่างเต็มรูปแบบ ป้องกันการทุจริตทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย 100% ประเดิมจับมือ Advice ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ของประเทศ รองรับการซื้อสินค้าได้ทั้งเว็บไซต์ ชูแพลตฟอร์มรองรับบิทคอยน์หลังขุดเข้าสู่ระบบผ่าน Cast2Coin เพื่อแปลงเป็นสกุลเงิน ‘ไทยบาทดิจิทัล’ ก่อนซื้อสินค้าได้อย่างอิสระด้วยค่าธรรมเนียมร้านค้าเพียง 0.1% เท่านั้น
นายศักดา เกตุแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาทฟินเทค เปิดเผยว่า ‘ไทยบาทดิจิทัล’ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการทุจจริตได้อย่าง 100% ด้วยเทคโนโลยีไพรเวทบล็อกเชนที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าตรวจสอบทุรกรรมทางการเงินได้อย่างอิสระ ขณะที่การโอนเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องได้รับการยืนยันจากทั้ง 2 กรณี ทั้งการโอนเงินแล้วก่อนส่งสินค้า และการรับสินค้าแล้วก่อนผู้ขายจะได้รับเงิน
อีกทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชนยังทำให้เกิดต้นทุนระหว่างตัวกลางลดลง ทำให้ภาระผู้ขายจากอัตราค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนที่ดีและสามารถทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น โดยทุกการซื้อ-ขายจะมีเพียงค่าใช้จ่าย 0.1% ต่อการขาย 1 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ด้านความปลอดภัยมีมาตรฐานที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น และคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
“การขุดเหมืองบิทคอยน์ในประเทศไทย คาดว่าจะมีเงินสะพัดในระบบกว่า 10 ล้านบาท โดยจากเดิมอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินบิทคอยน์ที่มีอยู่หลากหลายทั้ง Bitcoin, Ethereum, Ripple, Litecoin ฯลฯ มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนเป็นอย่างมาก ทำให้การแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าจริงที่มีอยู่ในท้องตลาดทำได้ยาก การเปลี่ยนเป็นสกุลเงิน ‘ไทบบาทดิจิทัล’ผ่านกระดานแลกเปลี่ยนอย่าง Cash2Coin ซึ่งมีค่าเทียบเท่าเงินบาท 1:1 ทำให้สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น”
ขณะที่เทคโนโลยีไพรเวทบล็อกเชนที่ใช้ดำเนินการระบบการซื้อขาย หรือ Payment Gateway นั้น เป็นการสร้างวงบล็อกเชนบนมาตรฐานสกุลเงิน Ethereum เป็นหลัก (อัตราแลกเปลี่ยน 1 Ethereum : ราว 18,000 บาท) โดยเมื่อมีจำนวนบล็อกมาพอ จึงจะเริ่มพัฒนาเป็นวงบล็อกเชนของตนเอง เพื่อการพัฒนาและลดต้นทุนในการจัดการค่าทำเนียมการให้บริการได้ถูกลงในอนาคต
ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ประธานบริหารสายงานผลิตภัณฑ์และการจัดการ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ แอดไวซ์ เปิดเผยว่า การตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบการชำระเงินด้วย ‘ไทยบาทดิจิทัล’ ครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยสะท้อนบทบาทความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของแอดไวซ์ได้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะสามารถเติบโตได้จากยอดขายสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3-5% หลังระบบสามารถเชื่อมต่อได้ครบสมบูรณ์
“และนับเป็นครั้งแรกที่จะมีการนำเงินคริปโตเคอเรนซี่มาใช้ในการซื้อขายสินค้าจริงในไทย เป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการซื้อสินค้าและรองรับการใช้สกุลเงินดิจิทัลไปพร้อมกัน”

ทั้งนี้ระบบการซื้อขายดังกล่าวยังต้องรอการอนุมัติจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ตามกฏหมายที่กำหนดสำหรับผุ้ให้บริการ e-payment ที่เปิดบริการในประเทศไทย (ใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามบัญชี ข) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ และจะเปิดให้บริการได้ทันที หลังจากสร้างปุ่มบนหน้าเว็บซื้อขายออนไลน์ของแอดไวซ์แล้วเสร็จ
ระดม ICO วาดฝันใบอนุญาตประเภท ค ต้องจดทะเบียน 200 ล้านบาทอัพ
ด้วยข้อจำกัดของสตาร์ทอัพ เมื่อต้องการใบอนุญาตประเภท ค ที่ครอบคลุมการให้บริการทางการเงินที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงตั้งเป้าระดมทุนด้วยการใช้ ICO เพื่อออกเหรียญจำนวน 300 ล้านเหรียญ ในมูลค่าเริ่มต้นที่ 3 บาทต่อ 1 เหรียญ โดยจะมีการเปิดซื้อขายเหรียญในรอบพรีเซล 30 มีนาคมนี้ และขายผ่านตลาดเสรีตั้งแต่ 30 เมษายนเป็นต้นไป
โดยมีบริษัทผู้ตรวจสอบ หรือ Auditor ที่ดูแลการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้จัดการซื้อขายครั้งนี้ ทำให้มาตรฐานการ ICO ของบริษัทเทียบเท่ากับการระดมทุนในตลาดปกติ และคาดว่าภายใน 3 เดือนจะสามารถระดมทุนได้ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมาย ซึ่งเงินลงทุน ICO ครั้งนี้จะนำมาเป็นเงินหมุนเวียนผ่านระบบทั้งหมด
คาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีการใช้สกุลเงิน ‘ไทยบาทดิจิทัล’ ประมาณ 5% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ชในประเทศไทยที่มีอยู่ราว 70,000 ล้านบาท และทำให้ยอดการสูญเสียจากการหลอกลวงในอีคอมเมิร์ชลดลงถึง 100% เลยทีเดียว ขณะที่ในระยะยาวคาดว่าปริมาณการใช้สกุลเงินนี้ จะครอบคลุม 50% ของตลาดทั้งหมดภายใน 5 ปี
สำหรับเป้าหมายกลุ่มแรกๆ ที่จะเลือกใช้ระบบนี้คือ กลุ่มผู้ค้าอีคอมเมิร์ชจากบริษัทใหญ่ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการซื้อ-ขายให้กับลูกค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีวงเงินหลายพันบาทต่อชิ้น และไม่ต้องการพึ่งพาเว็บซื้อขายที่มีระบบเครดิตการชำระเงินที่ไม่เหมาะสม หลังจากนั้นจะเป็นกลุ่มลูกค้าไมโครเปย์เมนท์ หรือการค้ารายย่อยที่ต้องการเงินหมุนเวียนสูงจะตามมา
“เป้าหมายหลักของธุรกิจนี้คือ การเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับระบบการเงินสมัยใหม่ให้มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้ โดยตัวบริษัทเองแม้จะระดมทุนด้วยเงินคริปโต แต่สุดท้ายแล้วบริษัท บาทฟินเทค ก็จะเข้าสู่ระบบการเงินปกติด้วยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยต่อไป” นายศักดา กล่าวสรุป