ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยความคืบหน้าโครงการจัดตั้ง สถาบันไอโอที เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต (IoT Institute) ขณะนี้อยู่ในช่วงการร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) และกำลังทำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นโดยรอบ คาดว่าจะเสร็จประมาณตุลาคม
ส่วนการคัดเลือกนั้น เอกชนที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ต้องมีศักยภาพสูง คาดว่าจะเลือกได้ในเดือนมกราคมและเซ็นสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และจะก่อสร้างหลังจากนั้น คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณปีเศษ
โดยเงินงบประมาณนั้นดีป้าได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,670 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคารนวัตกรรม IoT 1 และ 2 บนพื้นที่ขนาด 30 ไร่ ภายในโครงการ “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล” (Digital Park Thailand : EECd)
โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม และดีป้า ดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ EECd และสถาบันไอโอทีฯ ให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ได้รับทราบ
“ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน กระทรวงฯ ได้หารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานของรัฐ บริษัท StartUp จากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
เช่น การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างสนามทดสอบเทคโนโลยี 5G คู่ขนานกับการพัฒนาพื้นที่ EECd และสถาบัน IoT รองรับการลงทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่เริ่มดำเนินการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้การก่อสร้าง EECd เสร็จ”
โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ก่อนการประกาศเชิญชวน พร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะอนุกรรมการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินงานคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน
รวมถึงการคัดเลือกบริษัทเอกชน การเจรจา และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก อีกทั้งเรียกให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือเอกชนเข้าชี้แจงหรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพิจารณาการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามความเหมาะสม
นอกจากนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ยังเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล โดยจะมีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เป็นรองประธาน และจะมีการตั้งคณะคณะทำงานขึ้น เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการกำกับ ดูแล ติดตามการดำเนินการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางและกรอบระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งจัดทำรายงานความคืบหน้าเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นระยะ
นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เชิญผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน ชี้แจงหรือให้ข้อมูล และประสานงานโดยตรงกับหน่วยงานเพื่อขอรับการสนับสนุนข้อมูล ตลอดจนการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย