เอไอเอส นำดิจิทัลพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัยหรือ Smart Terminal ด้วยแอปพลิเคชัน U-Tapao ที่จะมีข้อมูลด้านการบินและสนามบินแบบครบครันในแอปฯ เดียว พร้อมเสริมระบบบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยี Video Analytics เพื่อดูแลด้านความปลอดภัย
ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ได้ถูกวางให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ลำดับที่ 3 ของกรุงเทพมหานครในอนาคต ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแผนเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้นโยบาย Thailand 4.0
พลเรือตรี ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ กล่าวว่า การมอบหมายให้เอไอเอสพัฒนาดิจิทัลโซลูชันส์ให้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ “Smart Terminal”
ในระยะแรกนั้นจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1. ยกระดับการให้บริการผู้โดยสาร ด้วยแอปพลิเคชัน U-Tapao ที่จะมีข้อมูลด้านการบินและสนามบินแบบครบครันในแอปฯ เดียว อาทิ สถานะตารางการบิน บริการการเดินทางไปกลับสนามบิน บริการที่จอดรถ ฯลฯ
รวมทั้งแผนที่แสดงจุดให้บริการต่างๆที่เสริมระบบการนำทางและการแสดงข้อมูลการบริการภายในสนามบินด้วยเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่จะสร้างประสบการณ์ความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเป็นครั้งแรกของไทย
2.เสริมระบบบริหารจัดการอาคารผู้โดยสารด้วยเทคโนโลยี Video Analytics ประกอบด้วยเครือข่ายกล้องวงจรปิดทั่วอาคาร และโปรแกรมวิเคราะห์ประมวลผลภาพปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ประยุกต์ใช้เป็นระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Face Recognition) ในพื้นที่สนามบิน
เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย เช่น กรณีบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัย หรือกรณีบุคคลสำคัญ เป็นต้น และ ระบบแสดงข้อมูลความหนาแน่นของผู้โดยสาร (Heat Map Analytics) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบรักษาความปลอดภัย และการบริหารและบริการของการท่าฯ
“ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการให้บริการและการบริหารอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้เป็น Smart Terminal นับเป็นการช่วยต่อยอดท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร
และเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็น Aviation Hub ในภูมิภาคนี้”
ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสได้ร่วมพัฒนาทั้ง 2 ระบบ พร้อมให้บริการได้ในราวไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยหวังว่าจะเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาอาคารผู้โดยสารในสนามบินให้เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต
โดยเชื่อว่า เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศครั้งใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน