นับเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ทุกคนให้ความสำคัญกับมากที่สุด กับช่วงเทศกาลส่งความสุขรวมถึงคืนเปลี่ยนผ่านปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ ซึ่งจากเดิมในช่วงเวลาเคาท์ดาวน์นี้ก็มักจะมีการส่งเอสเอ็มเอสกันจนระบบแทบล่ม แต่วันนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไปโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคนไทยก็ตอบรับกับเทคโนโนโลยีเหล่านี้ได้ดีเช่นกัน
มาดูที่ค่ายมือถือที่มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดอย่างเอไอเอสที่ได้ออกมาบอกว่า ยอดการใช้งานบนเครือข่ายของลูกค้าเอไอเอสในช่วงเทศกาลส่งความสุข ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561 – 1 มกราคม 2562 มีการใช้งานดาต้าเพิ่มมากถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยรูปแบบการใช้งานดาต้าของลูกค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Facebook, Youtube, LINE ส่วนช่วงเวลาที่มีการใช้งานผ่านเครือข่ายสูงสุด คือวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ในเวลา 20.00-21.00 น. เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของการทำงานก่อนวันหยุดยาว จึงมีคนเล่นโซเชียลและเชื่อมต่อออนไลน์มากเป็นพิเศษ
ก่อนเตรียมตัวเดินทางหรือพักผ่อนในเทศกาลปีใหม่ และคาดว่าตลอดทั้งวันที่ 1 มกราคม 2562 จะยังมีการส่งความสุขผ่านช่องทางโซเชียลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
โดยในปีนี้พบว่า การส่ง SMS หรือ MMS ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบไปใช้เพื่อสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการต่างๆ ไปยังลูกค้าหรือ กลุ่มสมาชิก แทนการใช้เพื่ออวยพรระหว่างกันของบุคคลทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งนี้ รูปแบบการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญคือ การดู VDO ผ่านแอปพลิชันต่างๆ
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่การใช้งานดิจิทัลเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งความสุขต้อนรับปีใหม่ 2562 ตามจุดจัดกิจกรรมสำคัญในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ
อย่างการสวดมนต์ข้ามปี หรือ กิจกรรมเคาท์ดาวน์ ที่ล้วนแล้วแต่มีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเอไอเอสได้เตรียมพร้อมในการรับมือและสามารถรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นได้ตามแผนที่วางไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ สถานที่จัดงาน “AIS Bangkok Countdown 2019” ที่เอไอเอสตั้งใจจัดขึ้นเพื่อมอบความสุข ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้กับชาวไทยและนักท่องเที่ยว มีผู้มาร่วมงานมากกว่า 200,000 คน
ด้าน ทรูมูฟ เอช เผยยอดการใช้ดาต้าเทศกาลปีใหม่ 2562 เพิ่มขึ้น 200% โดยยอดการใช้งานดาต้าเพื่ออวยพรและเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ถึง 1 มกราคม 2562 ผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 200%
ซึ่งแอปพลิเคชันที่มีการใช้งานมากที่สุดในช่วงดังกล่าว ยังคงเป็น Facebook รองลงมาคือ YouTube, LINE และ Instagram ตามลำดับ ส่วนแอปที่มียอดการรับชมอีเวนต์ในช่วงปีใหม่เพิ่มมากขึ้นติดอันดับในไทย ได้แก่ ทรูไอดี ขณะที่ SMS และ MMS มีผู้ใช้งานลดลงทุกปี
นายสกลพร หาญชาญเลิศ ผู้อำนวยการ ธุรกิจโมบายล์ พรีเพย์และนอน-วอยซ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ยอดการใช้ดาต้าทางโซเชียล เน็ตเวิร์ค 4 อันดับแรก คือ Facebook ตามด้วย YouTube, LINE และ Instagram
โดยเฉพาะในฟังก์ชัน Facebook LIVE และ Instagram Story เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 200% ในช่วงเวลา 23.45 – 00.15 น.ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงสุด เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สวนทางกับการใช้ SMS และ MMS ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 50% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
ส่วนดีแทคเผยยอดใช้ดาต้าช่วงปีใหม่ 2562 “กรุงเทพ” ครองแชมป์มากสุด แอปยอดนิยมคือ Facebook โดยปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2562 พบว่ามีสถิติการใช้งานดาต้าสูงสุด (Peak hour period) ในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น.
โดยภาพรวมในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้น 1.52 เท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2562 เวลา 07.30 น.) สำหรับจังหวัดที่ครองแชมป์การใช้งานสูงสุด 5 อันดับคือ 1. กรุงเทพ 2. สมุทรปราการ 3. ชลบุรี 4. ปทุมธานี 5. สมุทรสาคร
สำหรับแอปพลิเคชันที่นิยมใช้งานสูงสุดคือ 1. Facebook/Facebook Messenger 2. LINE 3. YouTube 4. Instagram และ 5. Twitter
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้ ดีแทคได้นำเทคโนโลยีรับส่งสัญญาณล่าสุด ด้วย Massive MIMO 64×64 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับ 4G TDD บนคลื่น 2300 MHz
มาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือในจุดที่มีการจัดงานเทศกาลปีใหม่ เช่น ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์, เมกาบางนา (Mega Bangna) และแหลมบาลีฮายพัทยา เป็นต้น
โดย Massive MIMO 64×64 ถือว่าเป็นนวัตกรรมเริ่มต้นที่จะนำสู่การสื่อสารยุค 5G ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การรับส่งสัญญาณกับอุปกรณ์การสื่อสารแต่ละจุดที่มีปริมาณมาก และเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity) การรับส่งข้อมูลดีขึ้นจากเดิม รวมถึงลดปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่จำกัดแต่มีปริมาณคนใช้งานหนาแน่นได้เป็นอย่างดี
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง