เอไอเอส ยังเน้นเดินหน้าเพิ่มศักยภาพเครือข่าย 4G ต่อไปในปีนี้ หลังพบลูกค้ามีการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 60% และคาดว่ายังมีความต้องการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีผู้บริโภคอีก 35% ที่ยังไม่ได้ใช้งานดาต้า
ส่วนการก้าวสู่ 5G นั้นกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและทดลองแบบไม่ได้รีบร้อนและรอเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากต้องมีความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะคลื่นความถี่ต้องมีอย่างเพียงพอ มุ่งทรานฟอร์มไปสู่การเป็นดิจิทัล โพรวายเดอร์ พร้อมสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับคนไทย
ในปีที่ผ่านมาเอไอเอสได้ขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อผ่าน Digital Platform และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดบริการทางดิจิทัลใหม่ๆ มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโมบาย ไฟเบอร์บรอดแบนด์ รวมไปถึงดิจิทัลแพลตฟอร์ม
สำหรับในปีนี้เอไอเอสจะเพิ่มบิ๊กดาต้าแพลตฟอร์ม ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และเทคโนโลยีใหม่อย่างเอไอบล็อกเชน รวมไปถึงการเพิ่มดาต้าอนาไลติกส์มีทีมพิเศษเพื่อวิเคราะห์ความต้องการในอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ในปีนี้เอไอเอสจะเปิดฐานลูกค้า 41 ล้านคนให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ เน้นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มระหว่างกัน ผ่านเอเยนต์กว่า 30,000 ราย ตามวิสัยทัศน์ในการเป็น Digital Platform ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์ร่วมกันให้แก่ทุกอุตสาหกรรม
นอกจากนี้เอไอเอสจะทำหน้าที่เป็น Network Educator ด้วยการส่งต่อแบบชี้วัดความอัจฉริยะทางเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ DQ – Digital Intelligence Quotient ไปสู่เยาวชน รวมถึงพัฒนา Network Protector ที่จะช่วยทั้งป้องกัน ปลูกจิตสำนึก สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อปลูกฝังและพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีให้เยาวชนพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม
“เรายังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเริ่มการทดสอบเครือข่าย 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เนื่องจากอยู่ใกล้กับสยาม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเมืองย่อมๆ เมืองหนึ่งที่จะทำการทดสอบเป็นสมาร์ทซิตี้ได้
แต่การจะทำเชิงพาณิชย์นั้น ต้องรอความชัดเจนของ กสทช.ก่อนว่าจะใช้คลื่นใดถึงจะเหมาะสมและต้องมีบิสิเนสโมเดลที่ชัดเจน ต้องมีการทดสอบก่อนที่จะทำการประมูลเพื่อให้คุ้มค่าที่จะไปต่อ เพราะ 5G เป็นอีกอีโคโนมีหนึ่ง ที่อาจจะไม่ได้รองรับมือถือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอุปกรณ์อื่นๆด้วย
ดังนั้นต้องรอความถี่รออุปกรณ์ที่พร้อม ความถี่ต้องมีระดับ 100 MHZ ซึ่งการยังไม่ได้เริ่มต้นในขณะนี้ไม่ได้แสดงว่าประเทศเราช้า แต่ต้องดูองค์ประกอบและทิศทางที่จะไปให้ชัดเจน”
ทั้งนี้แม้ว่า 5G จะยังไม่มี business case ที่ชัดเจน แต่ก็เชื่อว่า 5G จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปีนี้จะถือเป็นการพลิกโฉมทางอุตสาหกรรมโลกครั้งใหญ่อีกขั้นจากเทคโนโลยี Artificial Intelligence, Machine Learning, Robotic , Data Analytic และ IoT
ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสได้สร้างระบบนิเวศน์ของอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือ IoT Ecosystem ผ่าน AIS IoT Alliance Program – AIAP : โครงการความร่วมมือของสมาชิกจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ IoT
โดยหลังจากเปิดตัวในปี 61 จนถึงวันนี้ สามารถสร้างสรรค์ IoT Solution และ Business Model ที่ตอบโจทย์การบริหารจัดการ ได้อย่างครอบคลุมและ ขยายเครือข่ายสมาชิกไปมากกว่า 1,000 ราย (จากจุดเริ่มต้นเพียง 70 ราย)
ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ในปีนี้เอไอเอสได้นำเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Wifi6 (802.11ax) มาเริ่มให้บริการในชื่อ AIS Super Wifi+ ที่จะมอบความเร็วได้ถึง 4.8 Gpbs เพิ่มความสามารถในการรองรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้มากถึง 8 เท่า ตอบโจทย์การเติบโตของ IoT
ในส่วนของ Fix Broadband นั้น นอกจากจะขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง ยังเสริมความแข็งแกร่งการบริการ ICT เพื่อองค์กร ที่จะส่งมอบผ่าน CS LoxInfo ในรูปแบบของ One Stop ICT Services อีกด้วย และที่สำคัญทางด้านแนวคิด Unman Service นั้นจะเปิดตัวให้ได้สัมผัสอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้