สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ยืนยัน Ai (Artificial intelligence) ไม่ได้เข้ามาแย่งงานแรงงาน แต่จะช่วยเสริมให้ประสิทธิภาพงานดีขึ้น เน้นย้ำแรงงานต้องพัฒนา พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยกระดับสู่การควบคุมเครื่องจักรและ Ai ให้ได้
ขณะที่นายจ้างเองก็เตรียมการเสริมแกร่งความรู้ให้แรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น โอดบทบาทสภานายจ้างของไทยถดถอยแม้เวทีโลกจะได้รับการยอมรับ เตรียมพร้อมบรรลุการสร้างมาตรฐานร่วมกันในระดับภูมิภาค
นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ TheReporterAsia ว่า ความท้าทายของโลกยุคดิจิทัลในด้านของแรงงานวันนี้ สะท้อนได้จากบทบาทความแข็งแกร่งของสภานายจ้าง ในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านแรงงานต่อไปอย่างไร ยืนยัน ว่าวันนี้เรามีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ในการพัฒนาแรงงานที่ตรงความต้องการมากขึ้น
อีกทั้งความสำคัญของสภาองค์การนายจ้าง ในต่างประเทศจะมีบ่ทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านแรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มผู้จ้างเป็นกำลังสำคัญที่จะเกิดความต้องการ และนำพาประเทศไปสู่กำลังการผลิตที่สำคัญของทุกๆอุตสาหกรรม
แต่ในประเทศไทยเรายังมีบทบาทเพียงการให้คำปรึกษาการกำหนดนโยบายเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้ทิศทางการดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่แข็งแกร่ง
ที่ผ่านมาแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ มักไม่มีความสามารถที่ตรงความต้องการ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนยังเป็นรุ่นเก่า ไม่สอดรับกับเครื่องจักรที่ใช้งานจริง ซึ่งจะมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องมีความร่วมมือที่หลากหลาย ทั้งผู้ผลิตเทคโนโนยี นายจ้าง และสถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแรงงานเองที่ต้องพร้อมพัฒนาทักษะดังกล่าว
ด้วยปัญหาเหล่านี้ ทำให้เราร่วมกับสถาบันการศึกษาในการเปิดหลักสูตรการอบรมระยะสั้น เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงงน ให้สามารถทำงานได้ทันทีหลังการฝึกอบรมที่ตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถอบรมแรงงานได้หลากหลายระดับ ราว 100 คนต่อครั้ง และมีการจัดมาแล้วกว่า 6 ครั้งในระดับส่วนงานบริหารระดับกลาง แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล
Ai ไม่ได้เข้ามาแย่งงาน แต่แรงงานก็ยังต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี
ปัจจุบันอัตราแรงงานในระดับชั้นต้น เริ่มมีความขาดแคลน คนไทยเริ่มไม่สนใจทำ บางแห่งต้องใช้แรงงานต่างชาติ ทำให้เราเริ่มเห็นการทดแทนแรงงานด้วยโรบอตและเอไอ
ซึ่งหากถามว่า หุ่นยนต์หรือเอไอ จะเข้ามาแทนที่แรงงานในปัจจุบันหรือไม่ ต้องบอกว่า เอไอ ไม่ได้เข้ามาทดแทน แต่จะเข้ามาเสริมในส่วนที่เป็นการทำงานซ้ำๆเดิม หรือเป็นส่วนที่มีการใช้แรง เช่นการยกสินค้าขนาดใหญ่เป็นต้น
ขณะที่แรงงานเอง ก็จะถูกพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นผู้คุมเครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้ปล่อยให้แรงงานเกิดการพัฒนากันเอง เรามีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะ ในกลุ่มของสภานายจ้างซึ่งมีแรงงานทั่วประเทศรวมกันกว่า 4 แสนคน มีการอบรมให้ความรู้และเพิ่มทักษะการทำงานราว 3 หมื่นคนต่อปี เพื่อต้องการให้แรงงานพัฒนาการทำงานมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับนานาประเทศในระดับสากล ทั้งสภาองค์การนายจ้างอาเซียน สภาองค์การนายจ้างแห่งเอเชียแปซิฟิก และองค์การนายจ้างระหว่างประเทศ เพื่อร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในระดับสากล
และแม้ว่าโดยหลักแล้ว สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย จะมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลเรื่องกฏหมายเป็นหลัก แต่ก็มุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
โดยในปีนี้ประเทศไทยก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสภาองค์การนายจ้างอาเซียน ซึ่งจะทำให้เราได้มีโอกาสต้อนรับสมาชิกนายจ้างอาเซียนเข้ามาในประเทศ และปีนี้จะมีการมอบรางวัลนายจ้างที่มีผลงานดีเด่นอีกด้วย
การเกิดความร่วมมือในการส่งเสริมระหว่างประเทศมากมาย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมหากเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานขึ้น เมื่อรวมประเทศอาเซียนเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์
สิ่งที่แรงงานไทยต้องปรับตัวรับยุคดิจิทัล
แรงงานไทย ต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาเรื่องภาษาต่างชาติให้มากขึ้น ซึ่งหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เรายังเสียโอกาสในการเข้าถึงงานบางส่วนที่ บางประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าเรา ทักษะส่วนนี้มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก
ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะให้สามารถควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์พื้นฐานได้ จะช่วยให้แรงงานสามารถต่อยอดไปสู่การควบคุมเครื่องจักรได้โดยง่าย ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่ พร้อมที่จะสนับสนุนให้แรงงานได้มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็จะยังอยู่ที่ตัวแรงงานเองที่ไม่มีไฟในการพัฒนาตนเอง
อีกทั้งในส่วนของแรงงานฝีมือก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม เนื่องจากฝีมือแรงงาน ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการทำงานมาอย่างยาวนาน ซึ่งต้องสะสมประสบการณ์ที่เพียงพอ ทำให้ระยะเวลาเป็นตัวแปรสำคัญต่อการสร้างแรงงานในส่วนนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เราร่วมกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาร่วมกัน
ท้ายที่สุด เมื่อแรงงาน มีความพร้อมต่อการทำงานมากที่สุด แรงงานจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้กลุ่มเครื่องจักร เทคโนโลยี ตลอดจนเอไอและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติทั้งหลาย สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งแรงงานต้องพัฒนาทักษะเตรียมไว้ให้มากที่สุด เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง