‘ข้าวแดง’ จากอาหารสู่ เครื่องสำอาง ชะลอวัยแข่งระดับโลก

‘ข้าวแดง’ จากอาหารสู่ เครื่องสำอาง ชะลอวัยแข่งระดับโลก

เราคุ้นตากับโฆษณา เครื่องสำอาง จากต่างประเทศ ที่มีการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาพัฒนา และนำมาขายในเมืองไทยในราคาสูงลิบลิ่ว แต่ใครจะรู้ว่าพืชที่เรารับประทานอยู่ทุกวันอย่าง “ข้าว” ก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางที่ใช้สำหรับใช้ในการชะลอความชราไม่แพ้เครื่องสำอางแบรนด์ดังเลย

ซึ่งล่าสุด สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.ได้พา Thereporter.asia ไปทำความรู้จักกับ เครื่องสำอาง ของคนไทย ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากการวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ “รอบรู้งานวิจัย กับ สวก.”

งานวิจัยครั้งนี้มี “ข้าวแดง” เป็นพระเอก โดยนักวิจัยค้นพบว่าสารสกัดที่ได้ในชั้น Hexane ที่ได้จากข้าวแดงมีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดรุกรานได้ดี และลดการอักเสบของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ซึ่งเป็นที่มาของการประยุกต์และพัฒนาต่อยอดงานวิจัย เป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางลดการอักเสบ และความเสื่อมของเซลล์

เครื่องสำอาง
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ประกอบกับในเมล็ดข้าวสีแดงมีสารในกลุ่ม phenolic flavonoid และ proanthocyanidin ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสามารถต้านความแก่ชราของเซลล์ผิวหนังได้

จากงานวิจัยดังกล่าวนักวิจัยได้ร่วมกับเอกชนในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ครีมและเซรั่มที่สามารถช่วยชะลอหรือต้านความแก่ชราของผิวหนังไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนัง

นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าของข้าวที่มีสีแดงได้ต่อไป โดยโครงการ “ข้าวสีแดง” ได้ถ่ายทอดสิทธิ์ให้กับ บริษัท บิ๊ค เคมิคอล จำกัด

 

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีอยู่ในท้องตลาดทั่วไปมักจะมุ่งเน้นการป้องกันและการฟื้นฟูความชราของผิวหนัง (anti-aging) เช่น การลดริ้วรอย ความเหี่ยวย่น หมองคล้ำ ผิวขาดความชุ่มชื่นและหยาบกระด้าง

ซึ่งในเมล็ดข้าวสีแดงจะมีสารในกลุ่ม phenolic flavonoids และ proanthocyanidin ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญเหล่านี้จะพบในส่วนของจมูก และรำข้าวสีแดง ทำให้เป็นที่น่าสนใจในการนำจมูกและรำข้าวสีแดง มาสกัดให้เข้มข้นขึ้น

เครื่องสำอาง

 

พร้อมทั้งหาอัตราส่วนที่เหมาะสมของสารสกัดข้าวสีแดงเพื่อเตรียมสูตรส่วนผสมที่จำเพาะซึ่งให้ผลทางชีวภาพที่ดีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ก่อนจะถ่ายทอดให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และผลงานวิจัยที่พร้อมจะนำไปส่งเสริมไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย

“ที่ผ่านมาคนมักจะไม่เชื่อว่าเครื่องสำอางไทยจะดี ทั้งที่เป็นการสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรของไทย ซึ่งในครั้งนี้โจทย์ที่ทำการวิจัยน่าสนใจมาก และต่อไปการทำงานวิจัยจะต้องมีการระดมสมองกับผู้ประกอบการก่อน ว่าจะไปในแนวทางไหน และต้องมีพันธมิตรอย่างเช่น อย.เข้ามาทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น

เพื่อให้แนะนำแนะแนวตั้งแต่ต้นการผลิตไปจนถึงการต่อยอดมาสู่ผลิตภัณฑ์จริง รวมถึงทาง สวก.เองก็จะพยายามประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น และมีการส่งไปประกวดยังต่างประเทศว่าเรามีของดี”

ศาสตราจารย์ ดร.พรงาม เดชเกรียงไกลกุล คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก. กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาการแยกสารบริสุทธิ์จากข้าวแดงที่มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมนุษย์ชนิดรุกราน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีทีมนักวิจัยที่มีกลุ่มวิจัยระดับเพชรคณะแพทย์ศาสตร์นำวัตถุดิบจากธรรมชาติ

และพบว่า ข้าวแดง เป็นพืชเกษตรกรรม คนไทยทานข้าวเป็นหลักและประเทศไทยปลูกข้าวน้อยมากประมาณ 10% ของพื้นที่เกษตรกรรม

“เราทำการศึกษาตั้งแต่ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ และนำมาตั้งคำถามว่าสารสำคัญที่มีเอกลักษณ์ในข้าวมีไหม ไม่ได้มองเรื่องแป้ง น้ำตาล แต่เรามองถึงสารเคมีจากพืช เราจึงพบว่าข้าวแดงมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านความเครียดได้มากกว่าข้าวขาวนับ 10 เท่า จากนั้นจึงได้นำมาพัฒนาต่อยอด”

นอกจาก “ข้าวแดง” แล้ว ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัด Cassia Spp และ Tagetes Spp จากดอกไม้สีเหลือง เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของดอกไม้ที่ไม่ได้มีมูลค่าทางการตลาดมาก่อน

เครื่องสำอาง

โดยนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย สารสกัดจากดอกไม้สีเหลือง 3 ชนิด ได้แก่ ดอกราชพฤกษ์ ดอกขี้เหล็ก (Cassia Spp) และดอกดาวเรือง (Tagets Spp)

ใช้เป็นส่วนประกอบในเซรั่มหรือครีมที่มีฤทธิ์ชะลอ หรือต้านความแก่ชราของผิวหนังช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน กระตุ้นการสร้างไฮยาลูรอน ให้ผิวอิ่มน้ำ เผยผิวใหม่ที่เรียบเนียน ชุ่มชื้น และลดการสร้างเม็ดสีผิวทำให้ผิวดูกระจ่างใสขาวเนียนขึ้น

“บ้านเรามีดอกไม้เยอะมาก แต่ยังไม่มีการวิจัยในเชิงลึก เรามาศึกษาและพบว่าดอกไม้สีเหลือง ดอกคูน เรานำส่วนดอกไม้มาสกัดจนได้ออกมาจนได้สารสำคัญที่น่าสนใจ อย่างเช่น การกระตุ้นคอลลาเจน ดอกดาวเรือง

เครื่องสำอาง

เราพบว่าสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ และดอกขี้เหล็ก ที่กระตุ้นการสร้างฟิลเลอร์ เราเลือกสารเหล่านี้มาทดสอบในคนว่ามีความปลอดภัย ทดสอบการแพ้ การระคายเคือง ผ่านทีมงานของแพทย์ผิวหนัง”

ผลลัพท์ที่ได้ออกมานี้นับว่าเป็นการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เป็นที่น่ายินดีว่าทั้งสองโครงการนี้ได้มีผู้ประกอบการที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายในท้องตลาดเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากธรรมชาติ ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย

และที่สำคัญเป็นการนำวัตถุดิบของไทยมาวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยโครงการ “ดอกไม้สีเหลือง” ได้ถ่ายทอดสิทธิ์ให้กับบริษัท อมินตา คอสโม จำกัด สำหรับผู้บริโภคที่สนใจผลิตภัณฑ์สามารถหาซื้อได้แล้วตามร้านค้าชั้นนำทั่วไป

เช่นเดียวกับเอกชนที่ตอบรับการวิจัยครั้งนี้ว่า การซื้องานวิจัยดังกล่าวนี้ช่วยลดระยะเวลา และลดการลงทุน ซึ่งการวิจัยจะดีมากถ้าทำแล้วตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อที่จะนำไปใช้ได้ ขายได้ และบางทีงานวิจัยจำเป็นต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ออกได้ในวงกว้างด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนมีความสามารถได้เข้าถึง และงานวิจัยก็จะได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

แต่ทั้งนี้ 2 งานวิจัยนี้สำหรับภาคเหนือนั้น เป็นเพียงแค่ความสำเร็จส่วนหนึ่งจากการสนับสนุนของ สวก. แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะมีให้ติดตามต่ออีก 1 ตอน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

Related Posts