ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนได้ส่งสัญญาณเตือนสหรัฐ ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมเหมืองแรร์เอิร์ธที่มณฑลเจียงซี กลายๆว่าจะไม่ส่ง แรร์เอิร์ธ (Rare earth) ซึ่งเป็นกลุ่มธาตุหายากทั้ง 17 ธาตุ แต่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ให้กับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ หากมีการคว่ำบาตรบริษัทของจีนต่อไป
โดยนับตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ประเทศจีนเป็นผู้ผลิต Rare earth ได้มากที่สุดในโลก ด้วยการผลิตต้นทุนที่ต่ำสุดจนกุมอำนาจการตลาด แรร์เอิร์ธ ในการผลิตแบตเตอรี่และจอในไอโฟน รวมทั้งอุปกรณ์ไฮเทคไว้ทั้งหมด และที่สำคัญสหรัฐมีการนำเข้า แรร์เอิร์ธ จากจีนถึงราว 80% ของความต้องการทั้งหมดของสหรัฐ งานนี้มีหวังบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
โดย Rare earth มีรูปแบบการขุดค้นพบที่มีการกระจายตัวตามแหล่งเปลือกโลกที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีราคาสูงและหายากแล้ว และยังเป็นส่วนประกอบในทางอุตสาหกรรม 5 กลุ่มที่สำคัญของโลกอีกด้วย
อาทิเช่นหมู่ธาตุ สแคนเดียม (Scandium) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน โพรมีเทียม (Promethium) ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์ แลนทานัม (Lanthanum) ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายรูป อิตเทรียม (Yttrium) ใช้ในการผลิตโทรทัศน์และเตาอบไมโครเวฟ และเพรซีโอดีเมียม (Praseodymium) ซึ่งใช้อุตสาหกรรมผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบินอีกด้วย
ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มมีการบุกเบิกเหมืองแร่หายากในออสเตรเลีย เพื่อพร้อมรับมือการคว่ำบาตรจากจีนเช่นเดียวกับที่สหรัฐทำ ในรูปแบบการร่วมทุนกับบริษัทสหรัฐ แต่นับตั้งอดีตที่ผ่านมา กระบวนการและขั้นตอนการขุดแรร์เอิร์ธของประเทศอื่นนอกเหนือจากจีน มีต้นทุนที่สูงกว่า
และนั่นอาจจะส่งผลให้ต้นทุนของการผลิตสูงขึ้น หากสัญญาณจากจีนบ่งชี้ชัดเจนแล้ว สหรัฐอาจประสบวิกฤติขาดแคลนแรร์เอิร์ธในระยะใกล้ และอาจจะต่อเนื่องไปถึงต้นทุนที่สูงขึ้นของการผลิตชิปเซ็ตในระยะยาวอีกด้วย แม้ว่าแร่ดังกล่าวจะใช้เพียงเล็กน้อยในการผลิต แต่ก็ขาดไม่ได้หากต้องการผลิตสินค้าไฮเทค
ฉุดรายได้ซัพพลายเออร์สหรัฐลดลงกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญ
ปี 2018 ที่ผ่านมา หัวเว่ยสั่งซื้อชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์จากซัพพลายเออร์ทั่วโลกกว่า 1.3 หมื่นราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านเหรียญ และราว 1.1 หมื่นล้านเหรียญเป็นการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทสัญชาติสหรัฐ ซึ่งมีทั้งชิปเซ็ตที่ใช้ประกอบคอมพิวเตอร์จากควอลคอมม์ (Qualcomm)บอร์ดคอม (Broadcom) Micron Technology และอินเทล รวมทั้งไมโครซอฟต์ กูเกิล และซัพพลายเออร์สัญชาติอเมริกัน รวมกันทั้งหมดราว 263 รายด้วย
และแม้ว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะออกมาตรการเยียวยาผลกระทบบางส่วนนาน 90 วัน ให้สามารถดำเนินกิจการกับหัวเว่ยต่อไปได้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยผู้ให้บริการมือถือสหรัฐในพื้นที่ประชากรน้อยอย่าง ไวโอมิง (Wyoming) และ โอเรกอน ฝั่งตะวันออก ที่ได้ซื้ออุปกรณ์เครือข่ายของหัวเว่ยไปเมื่อปีก่อน ได้ปรับตัวทัน
หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการสหรัฐที่ให้บริการอยู่ในต่างประเทศ บางส่วนก็เลือกใช้อุปกรณ์เครือข่ายจากค่ายหัวเว่ยเช่นกัน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนการขายเข้า-ออกให้กับหัวเว่ย ที่สร้างรายได้ให้กิจการสหรัฐเท่านั้น บทต่อไปของสงครามการค้าเทคโนโลยีสหรัฐ-จีน อาจจะเป็นเรื่องข้อจำกัดทางวัตถุดิบการผลิตที่คาดว่าจีนจะได้เปรียบก็เป็นได้
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง