เอบีม คอนซัลติ้ง ปรับแผนใหม่ มั่นใจโต 29% สวนศก.ซบ

เอบีม คอนซัลติ้ง ปรับแผนใหม่ มั่นใจโต 29% สวนศก.ซบ

เอบีม คอนซัลติ้ง ปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ภายในเพื่อให้บริการที่ปรึกษาลูกค้าแบบครบวงจร พร้อมรุกตลาดอย่างเต็มรูปแบบ เผยธุรกิจในเมืองไทยหลายบริษัทมีการนำระบบไอทีมาใช้ แต่มีเพียงไม่กี่องค์กรเริ่มก้าวไปขั้นกว่าด้วยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านการให้บริการที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และคาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้เติบโตประมาณ 29 % มากกว่าปีที่ผ่านมา หรือ 906 ล้านบาท

นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอบีมคอนซัลติ้งได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายในให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าองค์กรธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากการแบ่งฝ่ายตามบริการที่ปรึกษาประเภทต่าง ๆ แบ่งเป็นโครงสร้างออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมของธุรกิจตามประเภทธุรกิจของลูกค้า และกลุ่มงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ทั้งนี้ในปี 2561 ที่ผ่านมา เรามีรายได้ในประเทศไทยรวม 702 ล้านบาท คาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้เติบโตประมาณ 29 % มากกว่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 906 ล้านบาท

“การเติบโตของดิจิทัลทรานฟอร์เมชันในไทยยังขาดกลยุทธ์ของดิจิทัล หลายบริษัทในเมืองไทยมีการนำระบบไอทีมาใช้ แต่องค์กรที่เริ่มก้าวไปขั้นกว่าด้วยการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ายังมีไม่มากนัก ทั้งนี้แม้ว่าเทรนด์ดิจิทัลยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยคู่แข่งมาในหลากหลายรูปแบบ ดิจิทัลทรานฟอร์เมชันจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะสินค้ามีอายุสั้นมาก และการจะทรานฟอร์เมชันให้สำเร็จต้องมีการเชื่อมโยงกับคนอื่นด้วย สร้างแพลตฟอร์มร่วมกัน”

ทั้งนี้ เอบีมคอนซัลติ้ง มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้ครบทุกมิติ จึงได้มีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในประเทศไทย โดยได้เพิ่มบริการใหม่ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทุนบุคลากร (HCM) ภายหลังจากการรับโอนธุรกิจจาก บริษัท อิเมอร์ริทิส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำบริษัทที่ปรึกษาอันดับหนึ่งด้านระบบ HCM ของไทย นับเป็นการให้บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ครอบคลุม และสามารถให้บริการโซลูชันของ SAP ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สามารถนำพาองค์กรและธุรกิจก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านคน วัฒนธรรม รวมทั้งวิธีการทำงานที่เกิดขึ้นภายในองค์กร

แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ความต้องการที่จะให้ไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มการขาย ลดต้นทุนยังมีความต้องการอยู่มาก ทำให้เราตั้งเป้าว่าจะสามารถเติบโตได้ 29% ในปีนี้ โดยปัจจุบันเอบีมมุ่งให้บริการที่ปรึกษาให้กับ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงงานและรถยนต์ (Manufacturing & automobile) ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภค ทั้งที่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม (Consumer business food & beverage) และธุรกิจบริการทางการเงิน (Financial service)

นายอิชิโร กล่าวว่า เอบีมยังได้ทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกหรือ Insight study ด้วยวิธีการศึกษาแบบเชิงคุณภาพ (Qualitative study) เกี่ยวกับการเติบโตของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย พบว่าองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มีการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอยู่ในระยะที่ 2 ในมิติของการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น มีการใช้ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน หรือ SAAS มีการผสมผสานข้อมูลไซโล และมีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบคาดการณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มตลาดรถยนต์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค ในขณะที่มิติด้านกลยุทธ์ องค์กร บุคลากร และกระบวนการทำงาน ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

“การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชันจะต้องทำในมิติสำคัญ 5 มิติ ประกอบด้วยมิติกลยุทธ์ มิติองค์กร มิติเทคโนโลยี มิติบุคลากร และมิติกระบวนการ เพื่อปรับทุกมิติให้มีความคล่องตัวในการทำงาน สามารถพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในปัจจุบัน และรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังรวมไปถึงงานบริหารด้านกลยุทธ์ การเป็นผู้นำ กระบวนการทำงาน และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด”

สำหรับ 7 ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน 7 ด้าน ได้แก่ 1.การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดทิศทาง 2.มีวัฒนธรรมองค์กรและความตระหนักรู้เกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยที่ทุกหน่วยงานพร้อมเปิดรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน 3.มีกลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ที่ตอบโจทย์ทั้งในส่วนไอทีและส่วนธุรกิจ 4.มีการปฏิรูปการวิเคราะห์และกระบวนการต่าง ๆ ด้วยการออกแบบสุดยอดนวัตกรรมกับเทคโนโลยีดิจิทัล 5.มีการปฏิบัติการทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านไอที ตามพื้นฐานของกลยุทธ์ทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น 6.มีการปฏิรูปองค์กร ด้วยการเร่งให้เกิดความคิดใหม่ ๆ และทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย 7.มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล พร้อมให้ความรู้ใหม่ ๆ ที่มาจากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

เอบีม คอนซัลติ้ง ประเทศไทย

Related Posts