แม้ผลการศึกษาล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ เอ.ที. เคียร์เน่ ภายใต้การมอบหมายจากซิสโก้ จะระบุว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 และการเปิดตัวบริการ 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์หรือกว่า 34,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 แต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ผลสำรวจและผลการศึกษาดังกล่าวภายใต้ชื่อ “5G ในภูมิภาคอาเซียน: ปลดล็อกทุกศักยภาพแบบจัดเต็ม และโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากการใช้ประโยชน์ 5G (5G in ASEAN: Seizing the Opportunity)” ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน มีเนื้อหาทั้งในแง่บวกที่หลากหลายอย่างเช่นการระบุว่า 5G จะรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4G ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะเด่น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ
รวมถึงประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะเปิดตัวบริการ 5G ในปี 2564 โดยคาดว่าการเติบโตในระยะแรกหลังจากที่ปรับใช้เทคโนโลยี 5G จะมาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และฐานลูกค้าจะค่อยๆ ขยายตัวเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับมีราคาลดลง จึงคาดการณ์ว่าสัดส่วนการใช้งาน 5G จะอยู่ที่ประมาณ 25 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในประเทศหลักๆ ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 โดยในประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้งาน 5G จะมีถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5G ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะเกิน 200 ล้านรายในปี 2568
แต่ในแง่ลบของเทคโนโลยีนั้นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ต้องทำความเข้าใจ เรียนรู้และนำไปปรับใช้ โดยนายนาวีน เมนอน ประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของซิสโก้ กล่าวว่า การเปิดให้บริการ 5G จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัปเกรดเครือข่าย 4G และสร้างขีดความสามารถด้าน 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4G และ 5G ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนทุนและ ROI ที่ยั่งยืน
“ประเด็นที่น่าจับตามองคือ ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถและการเปิดให้บริการ 5G อย่างแพร่หลาย ดังนั้นหลายองค์กรจึงอาจหันไปใช้เทคโนโลยีอื่น เช่น LTE, Wi-Fi 6 และเครือข่าย IoT ที่หลากหลาย ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมการทำงานของ 5G แล้ว ยังถือเป็นคู่แข่งกับ 5G อีกด้วย”
เพื่อที่จะปลดล็อคศักยภาพดังกล่าว ปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคนี้คือย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปสำหรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระบบ 5G จะได้รับการติดตั้งใช้งานบนหลายย่านความถี่ โดยมี 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz) ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 GHz) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 GHz)
ในภูมิภาคอาเซียนย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่น ๆ เช่น ย่านความถี่ต่ำใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางใช้สำหรับบริการดาวเทียม แม้ว่าสเปกตรัม mmWave จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมืองและชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร
“การลงทุนสำหรับการเปิดให้บริการ 5G ในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะเริ่มต้นด้วยการติดตั้งแบบ Non-standalone ในช่วง 2-3 ปีแรก ซึ่งจะรวดเร็วกว่าและใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการติดตั้งแบบ standalone และจำเป็นต้องมีการอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐาน 4G เพื่อให้ระบบ 4G และ 5G ทำงานควบคู่กันไป และนำไปสู่เทคโนโลยีแบบไฮบริด พร้อมด้วยการทำเวอร์ชวลไลซ์ที่ส่วนแกนหลักของเครือข่ายรักษาโครงสร้างพื้นฐานรุ่นเก่า”
ขั้นสุดท้ายคือการติดตั้งแบบ Standalone เพื่อรองรับฟังก์ชันการทำงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของ 5G และลดความยุ่งยากซับซ้อน ในการรองรับการติดตั้ง 5G แบบ Non-standalone จำเป็นจะต้องใช้ระบบเสาสัญญาณและโครงสร้างพื้นฐานวิทยุ เพื่ออัปเกรดไซต์ขนาดใหญ่ของระบบ 4G การอัปเกรดระบบรับส่งข้อมูล ติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์และอัปเกรดระบบคลื่นไมโครเวฟ มีความจำเป็นเพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งยังจะต้องมีการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์และโครงสร้างพื้นฐานเอดจ์คอมพิวติง (Edge Computing) เพื่อรองรับรูปแบบการใช้งานระดับสูง
“คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 5G สำหรับการเปิดตัวแบบ Non-standalone ทั่วภูมิภาคอาเซียนจะอยู่ที่ 13,500 ล้านดอลลาร์จนถึงปี 2568 หรือเรียกได้ว่าการสร้างและอัปเกรดเครือข่าย 4G และการเปิดตัว 5G แบบ Non-standalone ในเบื้องต้นจะต้องใช้เงินลงทุนราว 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ส่วนการเปิดตัวระบบ 5G แบบ Standalone จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับการเปิดใช้งานระบบแบบ Non-standalone ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ต้องรองรับการเปิดใช้งานระบบแบบ Non-standalone อย่างต่อเนื่อง”

นายนาวีน กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องดำเนินมาตรการร่วมกันเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามตัดราคา ผู้ให้บริการจะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G กำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ด้วยการเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก เพราะจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้ให้บริการ แต่ควรจัดทำข้อเสนอที่ “โดนใจ” สำหรับผู้บริโภค การโน้มน้าวให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้นสำหรับคุณภาพการเล่นเกมที่ดีกว่า หรือบริการ OTT ที่พ่วงมากับบริการเชื่อมต่อ จำเป็นต้องอาศัยการจัดทำอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจ
เช่นเดียวกับในเองของผลักดันการดำเนินการด้านกฎระเบียบ ที่ผู้ให้บริการต้องสนับสนุนการดำเนินการที่ชัดเจนของหน่วยงานกำกับดูแลในการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันย่านความถี่กลางถูกใช้งานในด้านอื่นๆ และจำเป็นต้องใช้แบนด์วิธจำนวนมากสำหรับ FWA (Fixed Wireless Access)ในย่านความถี่สูง
ด้านนายวัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ในประเทศไทยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าจะเปิดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถเปิดตัวบริการ 5G ในเดือนธันวาคม 2563 นอกจากนี้ กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz สำหรับ 5G ภายในปี 2563
“การเปิดตัว 5G เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และองค์กรต่างๆ เนื่องจากความท้าทายด้านอีโคซิสเต็มส์และมูลค่าที่สูงมากเป็นเดิมพัน หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเข้ามามีบทบาทหลัก และจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะสั้น การสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับประเทศ โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาค”
หน่วยงานกำกับดูแลต้องสนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ด้วยจัดทำแผนพัฒนาที่ชัดเจนสำหรับการใช้งานคลื่นความถี่ จัดสรรย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลก โดยกำหนดราคาใบอนุญาตอย่างสมเหตุสมผล มีความเป็นกลางในเรื่องของเทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนการจัดสรรย่านความถี่ทั้งหมด รองรับสภาพคล่องในตลาดคลื่นความถี่ สนับสนุนการขายส่งให้แก่บริษัทที่ไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพื่อรองรับตลาดองค์กร และอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีอื่นที่เป็นทางเลือก
พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ส่งเสริมการแบ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบแอคทีฟและพาสซีฟระหว่างผู้ให้บริการ รวมทั้งพิจารณาการสร้างเครือข่ายโมบายล์บรอดแบนด์แห่งชาติที่เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกราย รองรับการเชื่อมต่อไซต์และการเชื่อมต่อแบบส่งต่อ รองรับการเชื่อมต่อที่ได้รับอนุญาตระหว่างภูมิภาคและชุมชนต่างๆ โดยสร้างการเชื่อมต่อที่เปิดกว้างและประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับตำแหน่งที่ตั้งไซต์สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเซลล์ขนาดเล็กและการเชื่อมต่อแบบส่งต่อ (Backhaul)
และที่สำคัญต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการเชื่อมต่อที่เปิดกว้าง หลักการเชื่อมต่อที่เปิดกว้างสำหรับองค์กรที่ยินดีจ่ายค่าบริการสำหรับการแบ่งเครือข่ายและคุณภาพที่แตกต่าง กำหนดกรอบโครงสร้างการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนาความสามารถด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้แห่งชาติ โดยร่วมมือกับภูมิภาคอาเซียน และมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ให้บริการกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในแต่ละประเทศ
แต่ทั้งนี้ไม่ว่า 5G จะมีข้อดีและข้อด้อยมากน้อยแค่ไหน ผู้เล่นในวงการโทรคมนคมก็จะปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่นี้ไม่ได้ และจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ โดยซิสโก้ระบุว่าขณะนี้กำลังร่วมมือกับอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการพัฒนาระบบ 5G และปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายในอาเซียนที่กำลังดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ 5G แต่เมื่อเปิดให้บริการจริงแล้ว ความสำเร็จจะมากน้อยแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับกึ๋นของผู้ให้บริการแต่ละราย ที่จะนำเสนอบริการที่ดึงดูดได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่าเดิม