เฟซบุ๊ก เผย Ai บรรเทาเหตุฆ่าตัวตายได้กว่า 2 ล้านครั้งต่อปี

เฟซบุ๊ก เผย Ai บรรเทาเหตุฆ่าตัวตายได้กว่า 2 ล้านครั้งต่อปี

ความมุ่งมั่นในอุดมการณ์อย่างหนึ่งของเฟซบุ๊กที่เราควรรู้ นั่นคือความพยายามที่จะสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ขึ้น แม้ว่าการมีสังคมออนไลน์จะบั่นทอนความสามัคคีของสังคมลง จากการแสดงความคิดเห็นในบริบทที่แตกต่างกัน แต่กระนั้นสื่อสังคมออนไลน์ก็ไม่ใช่ต้นเหตุของความขัดแย้งที่แท้จริง กลับเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้คนมองเห็นความคิดเห็นกันมากขึ้นเท่านั้น วันนี้ TheReporterAsia มีอีกมุมของความมุ่งมั่นดังกล่าวของเฟซบุ๊กที่ทำให้คุณต้องร้องว้าว ด้วยการที่รู้ว่า เฟซบุ๊กได้นำเอไอมาช่วยแก้ปัญหา คนท้อแท้ สิ้นหวัง หรือหมดหนทางกับชีวิต ที่โพสต์ข้อความลงในไทม์ไลน์ได้กว่าปีละกว่า 2 ล้านคน

แน่นอนว่าโครงการเช่นนี้ใหญ่มากพอที่จะต้องใช้ร่วมมือกับเครือข่ายช่วยเหลือสังคมจากทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทย เฟซบุ๊กก็ได้ประกาศความร่วมมือกับ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ที่รวบรวมอาสาสมัครจากทั่วประเทศเข้ามาอบรมกว่า 6 เดือน และสละเวลาในการรับสายโทรศัพท์เพื่อให้คำปรึกษาแบบนิรนามมานานกว่า 40 ปี และเชอิล ประเทศไทย เอเจนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีที่เข้ามาร่วมสรรค์สร้างให้เกิดการรับรู้เรื่องราวของอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้สิ้นหวัง ในการสร้างเกาะคุ้มกันให้กับผู้ที่หมดหวัง ท้อแท้ หรือหมดหนทางได้มีทางออกมากกว่าหนทางการฆ่าตัวตายเท่านั้น กับแคมเปญ ‘The Story of Anonymous Samaritans’ เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก

สโนว์ ไวท์ สเมลเซอร์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook กล่าวว่า ด้วยอุดมการณ์ที่เราต้องการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น เรามีกรอบการดูแลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน และมีเครื่องมือที่จะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์​ของการรายงานเนื้อหาสุ่มเสี่ยงหรือไม่ปลอดภััย เพื่อสร้างความปลอดภัยที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาข้อมูลเพื่อรองรับการป้องกันก่อนเกิดเหตุการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และวันนี้ก็มีความร่วมมือกับ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวอย่างของความร่วมมือกับเครือข่ายท้องถิ่นในการช่วยกันป้องกันเหตุการณ์​ร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้้รายังปรับปรุงเครื่องมือที่เรามีอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันให้ชุมชนเกิดความปลอดภัยสูงสุด

เป้าหมายของการทำแคมเปญนี้ เพื่อต้องการลดอัตราการฆ่าตัวตายด้วยการใช้แพลตฟอร์ม​ของเราให่เกิดประโยชน์ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้นนโยบายของเราไม่ได้ห้ามผู้ใช้ที่จะพูดคุยเรื่องนี้ ผู้คนสามารถสนทนาและพูดคุยเพื่อขอความช่วยเหลือในการป้องกันการฆ่าตัวตายบนแพลตฟอร์ม​ของเราได้อย่างอิสระ แต่ไม่ใช่การแสดงออกที่รุนแรงและชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตายอย่างเด็ดขาด

ซึ่งเนื้อหาที่เราไม่อนุญาต​คือเนื้อหาที่กระตุ้น การส่งเสริมให้เกิดการทำร้ายตัวเอง ตลอดจนแนะนำให้ทานอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมเพื่อรูปร่างในอุดมคติที่แตกต่างจากความสมบูรณ์​ปกติ ซึ่งถือเป็นการทำร้ายตัวเองทางหนึ่งทางใด อีกทั้งรูปภาพของการส่อไปในทางทำร้ายตัวเองเราก็ไม่อนุญาติอีกแล้ว แม้ว่าเดิมเราจะทำเพียงการเบลอภาพเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราจะไม่อนุญาตให้โพสต์อีกต่อไป

และด้วยประเด็นปัญหาเหล่านี้มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทำให้เราต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ลงลึกไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งแนวคิดและบทบาทเหล่านี้จะถูกนำมาพัฒนาและเป็นไกด์ไลน์ให้เราปรับปรุงฟีเจอร์ของการป้องกันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ปัจจุบันเรามีการนำ Ai (artificial intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยวิเคราะห์​โอกาสของการฆ่าตัวตายจากข้อความที่ผู้ใช้ได้โพสต์ออกมา เมื่อเอไอพบข้อความรูปแบบดังกล่าวจะทำการแจ้งเตือนไปทีมงานของเฟซบุ๊ก เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ และดำเนินการแจ้งเตือนให้กับบัญชีผู้ใช้นั้นได้ทราบทางเลือกของการแก้ปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเอไอจะสร้างรูปแบบทางเลือกของการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือผู้ที่คาดว่าจะฆ่าตัวตายอย่างเป็นระบบให้กับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อนที่เห็นข้อความดังกล่าวยังสามารถกดรายงานมายังเฟซบุ๊ก​และเลือกให้เป็นการเฝ้าระวังเพื่อติดตามสถานะการณ์อย่างใกล้ชิดได้ง่ายยิ่งขึ้น

เฟซบุ๊ก
ขั้นตอนการทำงานของ Ai ในการช่วยเหลือ ‘ผู้โทร’

ทั้งนี้การกดรายงานจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก จะช่วยกระตุ้นให้เกิดขั้นตอนการแก้ไขที่รวดเร็วในการช่วยเหลือมากขึ้น เนื่องจากการกดรีพอร์ตเป็นการยืนยันด้วยบุคคลทีเป็นเพื่อนซึ่งรู้ความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว และแม้ว่าจะเป็นเพียงการกดรีพอร์ตของคนคนเดียว เราก็จะทำการตรวจสอบข้อความดังกล่าวทันที

โดยภาพรวมของขั้นตอนการตรวจสอบ จะเริ่มขึ้นเมื่ิอ เอไอ ตรวจพบหรือมีรายงานเข้ามา ทีมงานจะทำการตรวจสอบ และส่งคำแนะนำที่เหมาะสมไปที่ผู้โพสต์อย่างเร็วที่สุด ซึ่งในช่วงเมษายน-มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้จัดการข้อความที่ส่อไปในทางการสั่งเสียจนถึงการฆ่าตัวตายในเฟซบุ๊กไปแล้วกว่า 1.5 ล้านข้อความ ซึ่งระบบเอไอตรวจพบก่อนจะมีผู้รายงานได้กว่า 95% ขณะที่อินสตาแกรมมีการจัดการข้อความส่อไปในการฆ่าตัวตายแล้วกว่า 8 แสนข้อความ ซึ่งระบบเอไอ สามารถตรวจพบได้ก่อนที่จะมีคนรีพอร์ตกว่า 77%

นอกจากนี้เฟซบุ๊ก​ยังมีฟีเจอร์การช่วยเหลือเมื่อผู้ใช้งานเกิดความท้อแท้ และต้องการความช่วยเหลือ โดยสามารถอข้าผ่านหน้าเพจ www.facebook.com/safety/wellbeing/suicideprevention เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากเครือข่ายในแต่ละประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ได้อย่างสะดวกและเชื่อถือได้ โดยประเทศไทยมีความร่วมมือกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ที่จะเป็นหน่วยงานช่วยเหลือให้กับผู้ที่ท้อแท้และสิ้นหวัง ซึ่งถูกเรียกแบบนิรนามว่า “ผู้โทร”

นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา เรายังมีความ​ร่วมมือกับเอ็นจีโอที่ชื่อว่า Oregen ในประเทศออสเตรเลีย ที่สร้างการแชทปลอดภัยเพื่อเยาวชน ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบการแชทที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน เพื่อป้องกันแนวคิดการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตัวเองในกลุ่มเยาวชน โดยเฟซบุ๊ก​เองได้ทำงานร่วมกัน ในการดึงรูปแบบการสนทนาเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบเฟซบุ๊ก ​เพื่อส่งต่อรูปแบบดังกล่าวให้กับเยาวชนที่ใช้งานเฟซบุ๊ก​ไปทั่วโลกในอนาคต

และวันนี้เฟซบุ๊ก​ได้ร่วมกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ในการสร้างพื้นที่ให้ผู้ที่ท้อแท้และสิ้นหวังได้แสดงความรู้สึกของตนเองออกมา และยังเป็นพื้นที่ในการรวบรวมอาสาสมัครนิรนาม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่ท้อแท้ ในชื่อโครงการว่า ‘The Story of Anonymous Samaritans’ เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก

ตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือกับเฟซบู๊กในครั้งนี้ นับเป็นความรู้ใหม่ของเราที่รู้ว่าเฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับความรู้สึก และส่งเสริมให้เกิดการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายอย่างมุ่งมั่นมาอย่างยาวนาน และนับเป็นโอกาสอันดีที่เราได้ร่วมงานกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือพร้อมในการส่งต่อการรับรู้ ทั้งในมุมของผู้ที่ประสบเหตุการณ์และมุมของผู้คนทั่วไปหรือจิตอาสาให้ได้รับทราบ ตลอดจนผู้ที่ต้องการสนับสนุนทุนทรัพย์ให้สมาคมสามารถเดินหน้ากิจกรรมช่วยเหลือผู้ที่ท้อแท้และสิ้นหวังได้อย่างมั่นคงต่อไป

สิ่งที่โครงการนี้คาดหวังคือการช่วยเหลือและประคองอารมณ์​ให้รู้สึกสบายใจขึ้น ทำให้เขาเหล่านั้นไม่เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เป็นความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างพื้นที่ในการสื่อสาร โดยเราขอเรียกบุคคลที่ท้อแท้และสิ้นหวังเหล่านั้นว่า ‘ผู้โทร’​

เราทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ที่สิ้นหวังและอยากฆ่าตัวตายมานานกว่า 40 ปี และมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ที่จะฆ่าตัวตายผ่านทางโทรศัพท์หมายเลข 02 713 6793 ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงปี 2560 มีคนติดต่อเข้ามามากกว่า 1,500 สาย และปีทีผ่านมา (2561) มีการติดต่อเข้าขอความช่วยเหลือมากกว่า 3,500 สาย ขณะที่ปีนี้เพียงเดือนกันยายนเท่านั้น อัตราสายที่เข้ามามีมากกว่า 3,500 สายแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าอัตราผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากการฆ่าตัวตายมีการเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนทำให้อาสาสมัครไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันเรามีอาสาสมัครราว 100 คน ที่สละเวลาราวสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงแบบนิรนาม เข้ามารับสายโทรศัพท์ให้คำปรึกษาและสร้างกำลังใจให้กับผู้ที่สิ้นหวังได้กลับลุกขึ้นมาอีกครั้ง

เฟซบุ๊ก
ความร่วมมือของ 3 องค์กรในการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย

แคมเปญนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เพิ่มจำนวนอาสาสมัครนิรนาม จากการเปิดรับอาสาสมัครเพื่อเข้ารับการอบรมตลอดระยะเวลา 6 เดือน โดยเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการคัดเลือกคนที่พร้อมจะรับแรงกดดันและจุดไฟให้กับผู้ที่สิ้นหวังผ่านทางสายโทรศัพท์แบบไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ จากการทำความดีในครั้งนี้ อย่างผู้ทำความดีนิรนามที่ถ่ายทอดเรื่องราวของการช่วยเหลือผ่านแคมเปญ ‘The Story of Anonymous Samaritans’ เรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จัก ออกมาเป็นคลิปวิดีโอสั้น 10 เรื่องราว

ทั้งนี้หากมองแนวโน้มการเกิดขึ้นของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เรายังต้องการเพิ่มอาสาสมัครอีกกว่า​ 200 คน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมยาวนานกว่าครึ่งปี เพื่อสร้างอาสาสมัครที่พร้อมจะรับเรื่องราวทุกข์ใจและจุดไฟให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งให้กับคนที่ไม่รู้จักแต่สิ้นหวัง ขณะที่ในส่วนของค่าใช้จ่ายสมาคมนั้น เราพยายามทำด้วยงบประมาณอันน้อยนิด โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าสถานที่และค่าโทรศัพท์​เพื่อติดต่อกลับไปยังผู้ที่กำลังทุกข์ใจเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 7-8 แสนบาทต่อปี แต่กระนั้นการรองรับปริมาณผู้สิ้นหวังที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในหลายด้านอีกมาก

ด้านสาธิต จันทร์ทวีวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายครีเอทีฟ เชอิล ประเทศไทย ระบุว่า การเพิ่มจำนวนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น ทำให้สมาคมเกิดภาระทั้งที่ไม่พร้อม ซึ่งที่ผ่านมาผมรู้จักสมาคมผ่านทางเพื่อนอีกที วันนั้นเขามีการพิมพ์​เอกสารแล้วไปติดประกาศทั่วเมือง ซึ่งก็ทำให้สมาคมเป็นที่รู้จักและมีผู้ที่ทุกข์ใจโทรเข้ามาขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากขึ้น

แต่สิ่งที่รับรู้คือการขาดแคลนงบประมาณและอาสาสมัครในการช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้น ทำให้วันนี้เราต้องหันมามองที่ความเป็นจริงในการแก้ไข บนความพร้อมของสมาคม​ที่เกิดขึ้น ด้วยรูปแบบรายรับของสมาคมทีมีเพียงการได้เงินรับบริจาคเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อสร้างโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนแบบเฉพาะหน้า

การทำคลิปนี้ขึ้นมาจึงเป็นการส่งต่อความรู้สึกอิ่มเอมของการช่วยเหลือ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวของอาสาสมัครนิรนามตัวจริงผ่านแคมเปญบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก​ราว 10 เรื่องราวที่แตกต่างกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างการรับรู้ให้สังคมได้รับทราบถึงความมุ่งหมายของสมาคมแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสนับสนุนจากบุคคลภายนอกที่มากขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูดและสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้ที่กำลังท้อแท้ ผ่าน 10 คลิปคำถามที่ถ่ายทอดมาอย่างตั้งใจอีกด้วย

ประเทศไทย มีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน ซึ่ง 4,000 คนในจำนวนนี้ทำสำเร็จ และส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่กลับซ่อนรอยร้าวของจิตใจอันบอบช้ำไว้ภายในมาอย่างยาวนาน

ขณะที่สมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย ได้ให้กำลังใจกับผู้ที่เป็นทุกข์ ​เป็นโรคซึมเศร้า และต้องการฆ่าตัวตายจากทั่วประเทศ อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ตัดสิน ผ่านศูนย์ช่วยเหลือทางโทรศัพท์​ รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษผ่านอาสาสมัครราว 100 คน ซึ่งให้การช่วยเหลือได้ราว 10,000 คนในแต่ละปี

ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และต้องการสนับสนุน สามรถติดต่อได้ผ่านข่องทางในเฟซบุ๊กแฟนเพจ หรือสามารถติดต่อผ่านสมาคมสะมาริตันส์ ประเทศไทย ได้ที่เบอร์โทร 02 713 6793 ในเวลา 12.00 – ​22.00 น. หรือฝากข้อความแชทในเพจไว้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกปิดเป็นความลับ ซึ่งสะท้อนความเป็นเรื่องเล่าจากคนดีที่โลกไม่มีวันรู้จักนั่นเอง

Related Posts