นอกจากโครงการเน็ตประชารัฐที่ทีโอทีถือว่าเป็นผู้บทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีการสื่อสารให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ทำให้เด็กนักเรียนและผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้มีโอกาสเหมือนกับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่แล้ว ล่าสุดทีโอทียังมีบทบาทใหม่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมการรักษาสุขภาพ โดยได้เริ่มทำและกำลังต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ๆ งานนี้ตอบโจทย์สังคมได้ในวงกว้าง ลดปัญหาการวินิจฉัยโรคผิด การรักษาโดยที่ไม่รู้ประวัติคนไข้ และนับเป็นการช่วยยกระดับการแพทย์ของไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมหรือเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
“สิ่งที่ทีโอทีกำลังจะทำคือแพลตฟอร์มสาธารสุขที่จะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคน โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุขที่ได้มีการดำเนินการในเบื้องต้นแล้วร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ได้ทำเป็นต้นแบบ หากประสบความสำเร็จก็จะต่อยอดมาใช้ได้อย่างจริงจัง อาทิ ทีโอทีเฮลท์คอล นำผู้ป่วยสูงอายุมาลงทะเบียนสาธารณะสุข และเมื่อโทรมาจะรู้ว่าคนนี้มีโรคอ่ะไร โดยกำลังพัฒนาเป็นแวเลเบิลดีไวซ์ที่จะสามารถแจ้งเตือนและส่งข้อมูลได้ รวมถึงช่วยแจ้งเหตุในยามฉุกเฉิน แต่ขณะนี้ยังเป็นเรื่องระดับจังหวัดอยู่ ถ้าจะขยายทั่วประเทศต้องใช้ความร่วมมือที่กว้างขึ้น”
นอกจากนี้ยังเตรียมการต่อยอดในการทำเมดิคอลเรคคอร์ด ซึ่งจำทำให้ข้อมูลทางการแพทย์เข้าไปเก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวบนคลาวด์ และจะสามารถส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้หมอได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก จะได้รับรู้ประวัติของคนไข้คนนั้นๆ ซึ่งจะรวมไปถึงภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์รวมไปถึงซีทีสแกน โดยจะมีระบบการยืนยันตัวตนเป็นแพลตฟอร์มกลาง แล้วใช้บล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยขณะนี้ได้นำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน 4 จังหวัด
ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอทีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาและจัดทำต้นแบบ (Prototype) ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID) และ Health Information Exchange (HIE) Platform กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นรูปแบบใหม่ โดยจะมีการจัดระบบการให้ข้อมูล การคุ้มครองข้อมูล การจัดการข้อมูลด้านสุขภาพของผู้รับบริการ และการเข้าถึงข้อมูลของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมทั้งการส่งข้อมูลผู้รับบริการกลับไปยังหน่วยบริการต้นสังกัดเพื่อการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพ รวมทั้งมีการจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ และการขอรับค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข อีกด้วย
“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานเหมือนในอดีต ที่ทำงานซ้ำซ้อนและขาดความเชื่อมโยงของข้อมูล โดยระยะแรกจะนำร่อง 4 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สระบุรี และตรัง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการยืนยันตัวตนของประชาชนผู้รับบริการ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดส่ง การคุ้มครอง และการจัดการข้อมูลสุขภาพของประชาชนผู้รับบริการ”
ทีโอทีจะเป็นผู้พัฒนาระบบ Digital ID และ Health Information Exchange Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain บนมาตรฐาน ที่กำหนดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA โดยการสนับสนุนจาก บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID โดยจะมีการจัดทำฐานข้อมูลแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีชื่อคู่กับประชาชน แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษาของประชาชนที่มีชื่อคู่กัน รวมทั้งจาก รพ.อื่นที่ประชาชนไปรับการรักษาด้วย โดยต้องยืนยันตัวตนของแพทย์และประชาชนผ่านระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID Platform) ด้วยความยินยอมการให้ใช้ข้อมูลของประชาชน
นอกจากนี้ ข้อมูลสุขภาพ และประวัติการรักษา จะถูกส่งไปยังแพทย์ด้วยช่องทางที่ปลอดภัยเพื่อจัดทำให้อยู่ในรูปแบบ Global Medical Record ซึ่งจะทำให้แพทย์มีข้อมูลสำคัญเพื่อสื่อสารและวางแผนสุขภาพกับประชาชนที่มีคู่ชื่อต่อไป
ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะยกระดับการบริการระบบสุขภาพปฐมภูมิให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน จากการที่มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ส่งต่อได้รวดเร็ว ผู้ให้บริการและผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสนับสนุน พรบ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูลของแพทย์เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพทำให้การรักษาพยาบาลปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำ และต่อเนื่อง
ทั้งนี้หากการนำร่องประสบความสำเร็จ จะมีการดำเนินงานในระดับจังหวัด เขต ภาค และทั่วประเทศต่อไป เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ขณะนี้มีจำนวน 1,180 แห่ง ครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน และจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านคน ในปี 2563 (ร้อยละ 40 ของประชากร) และมีหน่วยบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 แห่ง
ด้านหม่อมหลวงจิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการบริหารบริษัท NDID กล่าวว่า การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกของความเชื่อมั่น ทั้งในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การจัดเก็บและการโอนย้ายข้อมูลด้านสาธารณสุข และบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจในมาตรฐานของระบบว่าข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษานั้น ได้รับการดูแลและจัดการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เชื่อถือได้ การส่งต่อข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษา จะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้วเท่านั้น โดยจะสามารถต่อยอดและเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของโครงการนี้ต่อไป
การนำเสนอแพลตฟอร์มสาธารณสุขของทีโอทีนับว่าเป็นสิ่งที่มาถูกทาง และน่าจะสามารถต่อยอดได้ถ้าได้ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และหากทีโอทีได้มีโอกาสประมูล 5G และได้คลื่นความถี่มาครอบครองน่าจะช่วยทำให้การขยายและต่อยอดไปได้ไกลมากขึ้นอีก เพราะเอไอและไอโอทีมีความจำเป็นมากที่ต้องใช้คลื่นความถี่นี้ในการขับเคลื่อน แต่ก็อยู่ที่ว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะส่งเสริมการใช้งานคลื่นความถี่นี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งการตั้งราคาประมูลที่สูงมาก อาจจะไม่ได้เพียงแค่ทำให้เอกชนลำบากเท่านั้น แต่อาจจะปิดตายให้หน่วยงานรัฐอาจจะไม่มีโอกาสได้ต่อยอดทำสิ่งดีๆ ได้เลย