
แคทแสดงความสนใจหลังกสทช.นำคลื่น 700 MHz กลับเข้ามาไว้ในหลักเกณฑ์การประมูล 5G อีกครั้ง แม้จะสนใจคลื่น 1800 MHz มากกว่าเพราะสามารถนำมาให้บริการต่อได้ แต่เนื่องจากแพงเกินไป
แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) เห็นชอบให้นำคลื่นความถี่ทั้ง 4 ย่าน ได้แก่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ไปประมูลเพื่อเปิดให้บริการ 5G โดยเป็นการประมูลครั้งละคลื่นความถี่ ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 ด้วยรูปแบบ Clock Auction นั้น
ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.ได้เคยถอนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ออก และนำกลับเสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช.อีกครั้ง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท มีแนวโน้มสนใจคลื่นย่านดังกล่าว ทำให้สำนักงาน กสทช. จึงนำกลับเข้ามาไว้ในหลักเกณฑ์การประมูล 5G อีกครั้ง
โดยสาเหตุของการนำคลื่น 700 MHz กลับมา เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2562 นายสรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ ได้ทำหนังสือถึงนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แสดงความคิดเห็นให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาประมูลพร้อมกับคลื่นความถี่อีก 3ย่าน ซึ่งขณะนี้ บริษัท กสทฯ ได้เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์การประมูลและเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ โดยคลื่นที่มีแนวโน้มจะประมูลมีความเป็นไปได้ในคลื่นย่าน 700 MHz เพื่อให้บริการ 4G
“จริงๆ กสทฯ มีความต้องการอยากได้คลื่น 1800 MHz เพราะสามารถนำมาให้บริการต่อได้ แต่เนื่องจากมีราคาสูง เพราะสำนักงาน กสทช.ตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลไว้เท่ากับราคาผู้ชนะการประมูลครั้งที่ผ่านมา 12,486 ล้านบาท ทำให้ กสทฯ ไม่สามารถรับราคานี้ได้ จึงหันมาที่คลื่น 700 MHz เพราะราคาไม่สูงมาก อีกทั้งยังให้บริการได้กับคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่กสทฯ ถือครองอยู่ และจะสิ้นสุดอายุลงในปี 2568 ตามใบอนุญาตที่ได้รับจาก กสทช. เพื่อนำมาให้บริการกับเสาโทรคมนาคม สถานีฐาน โครงข่ายเดิมที่มีอยู่
ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องการควบรวมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด เป็นสิ่งที่ทำให้ กสทฯ ต้องตัดสินใจเข้าร่วมประมูลก่อนที่จะมีการควบรวม เพราะหากมีการควบรวมแล้วจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เองได้ โดยผลประกอบการปี 2562 ที่ผ่านมา กสท มีรายได้จากการลงนามเซ็นสัญญาระงับข้อพิพาทกับดีแทค อีกโดยเงินงวดแรกตามที่ดีแทค แจ้ง 6,840 ล้านบาท จากเงินทั้งหมด 9,510 ล้านบาทนั้น หากสามารถบันทึกเข้ามาในปีนี้ได้ ก็จะทำให้ กสท มีรายได้พิเศษเข้ามา 1 รายการ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ 45,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 52,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กสท ยังคงเดินหน้าทำสัญญากับทรูในรูปแบบเดียวกับดีแทคอีกด้วย
อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์การเข้าร่วมประมูลของกสทฯ จะนำคลื่นไปให้บริการ 4G แต่ในขณะที่ตลาดกำลังมุ่งไปสู่ 5G ซึ่งจะทำให้ กสทฯ มีค่าบริการที่ราคาสูงกว่าโอเปอเรเตอร์อีก 3 ราย ที่จะประมูลคลื่น 2.6 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ในจำนวนความจุที่มากกว่า แต่กสทฯ มองว่าจะไม่เสี่ยงกับการประมูลในครั้งนี้ เพราะสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือการแข่งขันการเสนอราคาในกลุ่มผู้ให้บริการมือถือสำหรับคลื่นความถี่ 2.6GHz ที่ประเมินว่าทั้ง ADVANC และ TRUE ต้องการเป็นผู้นำใน 5G และตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ที่ประมูลคลื่น 2.6GHz เพื่อชิงความเป็นผู้นำ 5G แต่ย่านความถี่ 2.6 GHz มีแบนด์วิดท์จำนวน 190 MHz และผู้ประมูลหนึ่งรายสามารถเสนอราคาสูงสุดที่ 100 MHz ซึ่งหากไม่มีความร่วมมือที่เป็นมิตรระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งสามรายการแข่งขันการเสนอราคาอาจไม่มีเหตุผล