บล.บัวหลวง ชี้ช่องเพิ่มผลตอบแทนผ่าน DR

บล.บัวหลวง ชี้ช่องเพิ่มผลตอบแทนผ่าน DR
BUALUANG
นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)

หลักทรัพย์บัวหลวง ผู้ออก DR เจ้าแรกของไทย ชี้ช่องลงทุนสร้างโอกาสใหม่ และกระจายความเสี่ยงใน “ยุคจีดีพีไทยเติบโตต่ำ” ผ่าน “E1VFVN3001” อ้างอิง ETF ดัชนี VN30 Index ประเทศเวียดนาม รับอานิสงส์เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีประมาณ 6- 7% หนุนด้วยยอดส่งออกที่ขยายตัวทุกปี ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง หลังรัฐบาลเตรียมเสนอร่างกฎหมายพัฒนาตลาดทุน เอื้อประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในยุคที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยเติบโตค่อนข้างจำกัด หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพี ปี 63 อยู่ที่ 1.5-2.5% จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7-3.7% เมื่อเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

โดยทางการเวียดนามคาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะโตที่ระดับ 6.3% ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปในเวียดนาม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

โดยเฉพาะการลงทุนใน “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ” (Depositary Receipt) หรือ DR ที่มีหลักทรัพย์ที่รับฝากเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงกับดัชนี VN30 Index สะท้อนหุ้นชั้นนำ 30 บริษัทของตลาดหุ้นเวียดนาม และเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม บริหารจัดการ โดย Viet Fund Management หรือ VFM ซึ่งหลักทรัพย์บัวหลวงเป็นผู้ออก DR เจ้าแรกของไทย ใช้สัญลักษณ์ว่า “E1VFVN3001” ที่เริ่ม ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 61

ปัจจุบัน DR “E1VFVN3001” ได้รับความสนใจลงทุนจากนักลงทุนอย่างมาก เห็นได้จากมูลค่าตลาด (Market Cap) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกว่า 600 ล้านบาท มาอยู่ระดับ 1,447 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 14 ก.พ. 63) โดยดัชนี VN30 ของตลาดหุ้นเวียดนาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนสูงถึง 11.8% ชนะตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนเพียง 3.5%

“ค่าเงินบาทในปี 63 มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเฉลี่ย 3-4% ส่งผลบวกต่อ DR “E1VFVN3001” ฉะนั้นถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนระยะยาว เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต โดยในปีที่ผ่านมาเวียดนามเนื้อหอมมาก เห็นได้ชัดจากการที่ผู้ประกอบการจากประเทศจีนย้ายโรงงานการผลิตมายังเวียดนามจำนวนมาก และหากร่างกฎหมายหลักทรัพย์ของเวียดนามได้รับการแก้ไขจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามยิ่งน่าสนใจมากขึ้น” นายบรรณรงค์ กล่าว

นายบรรณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม มีด้วยกันหลากหลายประเด็น คือ 1.เศรษฐกิจเวียดนามมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 6-7% เมื่อเทียบกับไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำ หนุนโดยภาคอุตสาหกรรม ,ภาคการผลิตที่เติบโตโดดเด่น รับอานิสงส์ค่าแรงระดับต่ำ 180 บาทต่อวัน และภาคการบริโภคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเวียดนามมีประชากรมากถึง 97 ล้านคน

ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างมาก สอดคล้องกับรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody’s ที่คงอันดับความน่าเชื่อถือเวียดนามระดับ Ba3 ขณะที่ Fitch Ratings และ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือเวียดนามระดับ BB

2.ยอดส่งออกของเวียดนามในปี 63 อาจขยายตัวต่อเนื่อง จากปี 62 ที่เติบโตมากถึง 8.4% แซงหน้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ขณะเดียวกันในอนาคตเวียดนามมีแนวโน้มจะเป็น ผู้นำส่งออกในตลาดยุโรป หลังรัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับเวียดนาม ซึ่งจะ เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกสิ่งทอ รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามไปยังยุโรป โดยข้อตกลงดังกล่าวจะยกเลิก การจัดเก็บภาษีสินค้าประมาณ 99% ที่มีการส่งออก เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค.นี้

3.เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติหน้าใหม่มีโอกาสไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามเตรียมเสนอร่างกฎหมายพัฒนาตลาดทุน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ และรองรับการ Upgrade เป็น “ตลาดเกิดใหม่” (Secondary Emerging market) ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เช่น การปรับ foreign limit เป็น 100% และการออก NVDR เป็นต้น ซึ่งในปี 62 เวียดนามมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ( FDI) เติบโตเฉลี่ย 7.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไหลเข้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด

4.รัฐบาลเวียดนามเตรียมพัฒนาประเทศต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก รองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ปี 64 คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 6.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 16% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 5.การเมืองมีเสถียรภาพ แม้ภายในปี 63 จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ด้วยระบบการเมืองที่มีความคล้ายคลึงกับประเทศจีนจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

“แม้ในระยะสั้นตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่ได้ถูกปรับอันดับขึ้น แต่การที่ตลาดหุ้นคูเวตได้เลื่อนชั้นจากกลุ่มประเทศตลาดชายขอบ (Frontier Market) ไปอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามได้เพิ่มสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI กลุ่ม Frontier Market จากสัดส่วน 12.3% ขึ้นเป็น 30% สูงกว่า 1 เท่าตัว” นายบรรณรงค์ กล่าว

สำหรับการลงทุนใน DR “E1VFVN3001” จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนในหุ้น หรือ ETF ต่างประเทศที่ไม่ต้องการความยุ่งยาก จากการไปลงทุนตรงในต่างประเทศ และต้องการลงทุนระยะกลาง-ยาว มากกว่าการซื้อรายวัน โดยผู้ที่สนใจลงทุน DR “E1VFVN3001” สามารถซื้อขายได้ง่ายๆ ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีอยู่กับแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้บริการอยู่แล้ว ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bualuang.co.th/dr หรือ 0-2 618-1111

 

Related Posts