TGO ตั้งเป้าหนุนองค์กร ลดก๊าซเรือนกระจก 3.92 ล้านตัน

TGO ตั้งเป้าหนุนองค์กร ลดก๊าซเรือนกระจก 3.92 ล้านตัน
TGO
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อํานวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ตั้งเป้าปีงบประมาณ 63 หนุนผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ 323 ราย มีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศให้ได้ มากกว่า 3.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อํานวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO เปิดเผยผลการดำเนินงานส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิตของ TGO ในปีงบประมาณ 2563 มีผู้ที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและขึ้นรับเกียรติบัตรทั้งสิ้น 323 ราย โดยคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3,923,930.14 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาจากกลไกและเครื่องมือที่ อบก. พัฒนาและส่งเสริม ดังนี้

Ø กิจกรรมชดเชยคาร์บอน มีปริมาณการชดเชยคาร์บอนประเภทองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดงานอีเว้นท์ และกิจกรรมส่วนบุคคล รวมทั้งสิ้น 166,136 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศโดยมีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกว่า 33 ล้านบาท

Ø ฉลากคาร์บอน โดยอบก. ได้ทำการพัฒนาฉลากคาร์บอนขึ้น 3 รูปแบบ ได้แก่ เครื่องหมายคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลาก ลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction: CFR) และฉลากคูลโหมด (CoolMode)

ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่มีระบบการรับรองสอดคล้องตามหลักสากล มีผลิตภัณฑ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนทั้ง 3 ฉลาก รวมจำนวน 596 ผลิตภัณฑ์ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,308,240 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

Ø คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) เป็นเครื่องมือสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อมูลและรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร โดยองค์กรภาครัฐและอุตสาหกรรมที่ผ่านการรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรจำนวน 170 องค์กร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 34 แห่ง

มีปริมาณที่คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน (อุตสาหกรรมและบริการ) โดยพิจารณาจากแนวทาง/แผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดลงได้ 454,417.14 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

Ø โครงการ “การพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” เป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัดและจัดทำแผนหรือแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับจังหวัด ซึ่งจากการประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้จากกิจกรรม/แผนงาน/โครงการลดก๊าซเรือนกระจก

ภายในขอบเขตจังหวัด พบว่า ตามแผนหรือแนวทางดังกล่าวของ 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และอุทัยธานี คาดว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 440,667 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

Ø โครงการ “สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก” (Low Emission Support Scheme: LESS) มี ๑๗๓ หน่วยงานหลักที่ได้รับการรับรอง รวมจำนวน 242 กิจกรรม สามารถลดหรือกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 840,269 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

Ø โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) หรือ โครงการ T-VER มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 29 โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้รวมกัน 714,201 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้ผ่านการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก (TVERs) หรือที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” จำนวน ๒๓ โครงการ คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 568,063 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

จากความสำเร็จดังกล่าว TGO จึงจัดพิธีขอบคุณและมอบประกาศนียบัตรในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2563 ในวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการและภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วยการมอบโล่และประกาศนียบัตรแด่บุคคล ชุมชน องค์กร และผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อนที่อบก. ให้การรับรองและส่งเสริม

รวมถึงการแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐ เอกชน อุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน จำนวน 1,232 คน และได้รับความกรุณาจากท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) เป็นประธานในพิธีและมอบประกาศนียบัตร

ซึ่งสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลดีต่อประเทศไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เกิดการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแนวคิดการจัดงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2563 คือ “Climate Positive Actions – Together” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้เรื่องสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และกระตุ้นให้เกิดกระแสการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ และการปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นได้

Related Posts