พพ.เดินหน้า ลงพื้นที่หลังการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จสิ้น โดยผู้ชนะการประมูล ACE คว้าสิทธิ์การผลิตไฟฟ้ากว่า 80% โดยหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายอยู่ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งคาดว่าจะตั้งโรงงานในพื้นที่กว่า 600 ไร่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวภาพจาก หญ้าเนเปียร์ ราว 9 โรง คิดเป็นการผลิตไฟฟ้าราว 28 เมกะวัตต์ จากการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้ปลูก หญ้าเนเปียร์ เพื่อนำมาเป็นวัถุดิบหลักในการผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าต่อไป
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการลงมาดูความพร้อมในการเตรียมการเพาะปลูกหญ้าเนเปียร์ของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากการประมูลที่ผ่านมา บริษัท ACE จะเข้ามาตั้งพื้นที่โรงผลิต ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้หญ้าเนเปียร์ในการผลิตราว 100 ตันต่อวัน
วันนี้ได้ยินกลุ่มเกษตรกร ที่รวมตัวกันหลายกลุ่ม ทำให้แต่ละกลุ่มมีพื้นที่ในการเพาะปลูกรวมกันราว 2000-3000 ไร่ต่อกลุ่ม รวมทั้งในส่วนของน้ำที่มีเพียงพอในแต่ละพื้นที่ ก็เชื่อแน่ว่าเกษตรกรมีความพร้อมในการสร้างวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าเป็นอย่างดี
การส่งเสริมเช่นนี้ อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าจะได้รับสัมปทานในการผลิตพลังงานยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถสร้างได้ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการเติบโตของโรงไฟฟ้าในรูปแบบของหุ้นส่วนราว 10% อีกด้วย นับว่าเป็นการส่งเสริมแบบยั่งยืนที่เกษตรกรจะได้มีรายได้ที่มั่นคงต่อไป
ด้านพรอุมา ทองสุข ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ ตัวแทนโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มบริษัท ACE กล่าวว่า พื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้ากว่า 600 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้า 9 โรง โดยจะมีกำลังการผลิตสูงสุดราว 28 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถส่งขายให้กับการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่การไฟฟ้ายอมรับ
โดยขั้นตอนต่อไป อยู่ที่การจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อขออนุญาตการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จราว ปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ในรูปแบบ Contact Farming โดยจะให้ความสำคัญกับระยะ 100 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าก่อน เพื่อความสะดวกในการขนย้าย อีกทั้งยังเป็นประหยัดต้นทุนในส่วนของการขนส่งอีกด้วย
ขณะที่โครงการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เพื่อการปลูกหญ้าเนเปียร์นั้น จะมีการส่งเสริมให้ความรู้ชุมชนในการปลูกหญ้า มีการแจกจ่ายท่อนพันธุ์หญ้าปากช่อง 1 พร้อมส่วนเสริมการเพาะปลูก เพื่อช่วยให้เกษตกรมีการเพาะปลูกอย่างจริงจังแบบไร้ต้นทุนนอกจากค่าแรงงานเป็นหลัก ซึ่งต่อไร่สามารถปลูกได้มากถึง 6-10 ตันต่อการเก็บเกี่ยว 1 รอบ(ระยะเวลา 2 เดือน) การลงพันธุ์ครั้งเดียวมีอายุนาวนานกว่า 6 ปี
ทั้งนี้เมื่อโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้ว ACE จะมีการรับซื้อจากเกษตรกรด้วยราคาประกัน 300 บาทต่อตัน สำหรับการให้ ACE เข้าทำการตัดและขนย้ายเอง ขณะที่หากเกษตรกรตัดเองแล้วนำมาส่งให้ที่โรงงานจะมีราคาราว 500-850 บาทต่อตัน ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความชื้น ซึ่งจะได้ราคาสูงสุดหากความชื้นไม่เกิน 40% โดยโรงไฟฟ้าจะรองรับการใช้หญ้าเนเปียร์ราว 100 ตันต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์