ความท้าทายของโลกพลังงานในวันนี้ หนีไม่พ้นเรื่องการจัดการแบบเบร็ดเสร็จภายใต้เทคโนโลยีที่สะดวกสบาย แต่วันนี้ใครจะรู้บ้างว่านักวิจัยไทยสามารถพัฒนา เบรกเกอร์ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยในการเรียนรู้พฤติกรรมการจัดการพลังงานของบ้านได้อย่างอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น ซึ่ง TheReporterAsia จะพามารู้จักกับคุณชัชชม สุจริตโศภิต ผู้พัฒนาบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส.ในปีที่ผ่านมา
นางชัชชม สุจริตโศภิต ผู้พัฒนานวัตกรรมบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า การพัฒนาครั้งนี้ต้องการปฏิวัติด้านพลังงานของประเทศไทยให้กลายเป็นเมืองต้นทางของเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนา (กทปส.) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานการจัดการด้านพลังงานใหม่ ดังจะเห็นได้ว่า พลังงานไฟฟ้า เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนอุปกรณ์ทุกชนิด แต่กระนั้นการพัฒนาพัฒนาเบรกเกอร์ซึ่งเป็นต้นทางของการใช้งานพลังงานไฟฟ้ายังมีช่องว่างอีกมาก ทำให้ทีมวิจัยสนใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบทบาทของเบรกเกอร์ให้มีความฉลาดมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างเป็นแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นในเชิงของการวิเคราะห์และส่งเสริมประสิทธิภาพต่อไป
โดยเบื้องต้นของการพัฒนาฮาร์ดแวร์เพื่อสร้างโซลูชั่น HoME@Cloud Solution นั้น เราได้มีการพัฒนาชิปออกมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานไฟฟ้า ชิปปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้ชื่อ REM101 ที่จะเข้ามาติดตั้งในอุปกรณ์เบรกเกอร์ที่เราร่วมพัฒนากับโรงงานผู้ผลิตให้กลายเป็นเบรกเกอร์ปัญญาประดิษฐ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้วงจรเบรกเกอร์สามารถเก็บข้อมูลที่จำเป็นส่งขึ้นสู่ระบบคลางด์ ผ่านเครือข่ายไวไฟหรือ 5G ที่มีการออกแบบไว้ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากจะมองถึงเบรกเกอร์ IoT ที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าสามารถสั่งการได้เพียงการเปิด-ปิดอุปกรณ์ หรือการแสดงข้อมูลเปิด-ปิดเท่านั้น และไม่สามารถสร้างโค้ดเพิ่มเติม เพื่อสั่งการเพิ่มได้เนื่องจากเป็นของต่างประเทศ ครั้งนี้เราจึงตั้งใจพัฒนา เบรกเกอร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นแบรนด์ของคนไทย พร้อมการฝังชิปปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้เบรกเกอร์สามารถเรียนรู้รูปแบบพลังงานตามพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยในบ้านนั้นๆ ได้อย่างเฉพาะเจาะจง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและเพิ่มความปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางด้านไฟฟ้าได้อย่างสูงสุด รวมทั้งลดขั้นตอนการสั่งการที่ยุ่งยากด้วยการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ที่มีอยู่ภายในเบรกเกอร์
โดยในคร้งนี้ คุณชัชชม ได้แสดงให้เห็นการเรียนรูู้ของ เบรกเกอร์ปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าปกติ เมื่อสร้างการช็อตขึ้นระบบปกติก็สามารถตัดการทำงานของระบบไฟฟ้าได้ทันที แต่สำหรับการใช้เบรกเกอร์ปัญญาประดิษฐ์นี้ คุณชัชชม ได้ลองสร้างสถานการณ์การช็อตในกรณีที่การทำงานของเครื่องจักรบางประเภทที่มีแรงกระเพื่อมของคลื่นไฟฟ้าเป็นปกติเพื่อให้เบรกเกอร์เรียนรู้ ทำให้เครื่องสามารถเข้าใจรูปแบบการอาร์คที่ปลอดภัยโดยที่ไม่มีการตัดวงจรไฟฟ้าช่วยให้เครื่องจักสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น นับเป็นการพัฒนาที่รองรับการใช้งานที่มีรูปแบบไฟฟ้าของเครื่องจักรบางส่วนที่มีการกระชากของไฟ หรือมีส่วนของการอาร์คที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน ทำให้ระบบไฟฟ้าโดยรวมมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ด้านซอฟต์แวร์ HoME@Cloud Solution จะสามารถสั่งการระบบไฟฟ้าทั้งหมดผ่านเครือข่ายไวไฟภายใต้การทำงานแบบแดชบอร์ดของแอปพลิเคชั่น พร้อมทั้งแสดงผลการทำงานของแต่ละอุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์ และยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านการตรวจสอบความผิดปกติของระบบไฟฟ้า หากช่วงใดมีการใช้งานมากผิดปกติ ระบบจะทำการตรวจพบ และตรวจสอบย้อนกลับไปยังอุปกรณ์นั้นแล้วทำการแจ้งกลับมายังส่วนสั่งการ เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยคุณชัชชม เปิดเผยว่า สำหรับนักพัฒนาที่สนใจจะต่อยอดไปสู่การสั่งการควบคุมด้วย HoME@Cloud Solution ให้สามารถตอบสนองการใช้งานที่ละเอียดยิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้างรูปแบบการวิเคราะห์จากข้อมูลพลังงานไฟฟ้าเพื่อต่อยอดนั้น ทางทีมพัฒนากำลังจัดทำชุด API ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้สะดวกยิ่งขึ้น
ทั้งนี้สำหรับเบรกเกอร์ปัญญาประดิษฐ์ชุดเบื้องต้นสำหรับติดตั้งตามบ้านจะมีราคาเริ่มต้นที่ 15,000 บาท รองรับการทำงานได้ 5-100 แอมป์ สามารถติดตั้งเข้ากับตู้คอนซูเมอร์ยูนิตของข้านได้อย่างสะดวกในรูปแบบเช่นเดียวกับเบรกเกอร์ทั่วไป สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งไวไฟ 2.4GHz และ 5GHz และบางรุ่นสามารถพัฒนาให้รองรองรับซิมการ์ด 5G เพื่อป้องกันปัญหาเน็ตดับจากระบบเราเตอร์แยกได้ ควบคุมผ่านเว็บแอปพลิเคชั่น และแอปพลิเคชั่นทั้งแอนดรอยด์และ iOS ที่ง่ายดาย
ด้านนายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนา โครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 เป็นทุนประเภท1 ของปี 2563 ในส่วนของนวัตกรรมวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นสัดส่วนทุนกว่า 70% ซึ่งบ้านเบรกเกอร์4.0 เป็นโครงการที่ไกล้จะจบแล้ว จากการติดตั้งระบบราว 50 แห่ง
เราคาดหวังว่าฝีมือการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีของคนไทยในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุด้านการใช้ไฟฟ้า พร้อมทั้งความสามารถในการรายงานข้อมูลด้านไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานผิดพลาดจะทำให้เรารู้ปัญหาได้ทันทีแบบเรียลไทม์ ช่วยทำให้เกิดประโยชน์และทำการป้องกันได้อย่างทันท่วงที
โครงการบ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 นี้นับเป็นความภาคภูมิใจของกองทุนฯ ตรงตามปณิธานที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่างานวิจัยไม่ได้ถูกทิ้งไว้บนหิ้งอีกต่อไป แต่สามารถนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นครั้งแรกของการวิจัยและพัฒนาที่เห็นผลจากคนไทยจริงๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจโซลูชั่นดังกล่าว ตลอดจนนักลงทุนที่ต้องการส่งเสริมและต่อยอดการวิจัยและพัฒนาผลงานชิ้นนี้ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจ มิสสไปค์ทีม | Facebook