สกมช. เปิดหลักสูตรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับผู้บริหาร (Executive CISO) รุ่นที่ 1 ดึงผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการสื่อสารระดับประเทศ เข้าร่วมอบรม 70 คน สร้างเครือข่ายต่อต้านไซเบอร์ระดับประเทศครั้งแรกและครั้งสำคัญ
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นำโดย พลเอก ดร. ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ/ประธานกรรมการบริหารหลักสูตร และพลโท ปริญญา ฉายดิลก ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนโยบายและแผน/ผู้อำนวยการหลักสูตร ได้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาทักษะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กร และสร้างเครือข่ายของผู้บริหารระดับสูง ในการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศในระดับประเทศ
ได้เชิญและคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ารับการอบรมในหลักสูตรผู้บริหารด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Executive Chief Information Security Officer) หรือ Executive CISO จำนวน 70 คน โดยรูปแบบการเรียนตลอดหลักสูตรจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและถกแถลงเชิงวิชาการอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวเปิดการอบรมหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับผู้บริหาร รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมศาลาไทย โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ว่า ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานยังขาดประสบการณ์ ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ดังนั้น Executive CISO จึงนับเป็นหลักสูตรที่สำคัญ ในการพัฒนาบุคลากรระดับผู้บริหารจากภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ และรับฟังแนวทางในการบริหารองค์กรให้สามารถลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ร่วมกิจกรรมปรึกษาหารือ ร่วมคิด แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ เพื่อนำมาประยุกต์เป็นแนวคิดในการบริหารองค์กรให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งของกิจกรรมในหลักสูตรนี้เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจ แก้ปัญหาในระดับประเทศร่วมกันต่อไป
สำหรับหลักสูตรนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นพ. ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้ปัจจุบันโลกของเราได้เข้าไปสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ ทำให้ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาจะเห็นได้จากข่าวการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก เช่น โรงกลั่นน้ำมัน บริษัทขนส่งน้ำมัน ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารทั้งรัฐและเอกชน บริษัทประกันภัย และโรงพยาบาล เป็นต้น
การโจมตีมีวัตถุประสงค์หลากหลาย อาทิ เพื่อก่อกวนให้ใช้งานระบบไม่ได้ หรือการโจมตีเพื่อขโมยข้อมูลด้วยแรนซัมแวร์ ซึ่งกลุ่มอาชญากรจารกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ทำการปิดกั้นข้อมูลเป็นตัวประกันจนกว่าบริษัทจะยอมจ่ายค่าไถ่ หรือให้ผลประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้ก่อเหตุ ดังนั้น บริษัทจึงต้องหยุดการทำงานในระบบทำให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการหรือดำเนินธุรกิจ และอาจหมายรวมถึงส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ประเทศไทยมีแนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเชิงปริมาณและความรุนแรง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้องค์กรต่าง ๆ มุ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำงานระยะไกลเสมือนจริงผ่านการใช้งานพอร์ทัลแอปพลิเคชัน และเว็บแอปพลิเคชันเพื่อความสะดวกในการทำงาน ทำให้อาชญากรไซเบอร์ใช้ประโยชน์จากการที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างและทำงานจากนอกสถานที่ เจาะช่องโหว่ของระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญ
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นรัฐบาลตระหนักดีว่าต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้น พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงถูกบัญญัติขึ้น เพื่อรับมือ ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ หรือ CII (Critical Information Infrastructure) อันจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในวงกว้างต่อไป