อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญ ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทย ในฐานะฐานการผลิตคุณภาพ และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 60 ปี ปีนี้ต้องถือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเข้าสู่ “อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” แม้รัฐบาลประเทศไทยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2558 ก็ตาม
จากตัวเลขยอดจอง ยานยนต์ไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นในงานแสดงรถยนต์ มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สะท้อนกระแสความสนใจของประชาชน และมีแบรนด์รถยนต์ใหม่ ๆ เข้ามาเปิดตลาดจำนวนมาก รวมทั้งค่ายรถยนต์รายใหญ่ ต่างก็มีโมเดลรถยนต์ไฟฟ้านำเสนอ นั่นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังยกระดับสู่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV ) ตามนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันการผลิตรถยนต์ ที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือ (ZEV: Zero Emission Vehicle) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคตด้วย
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง แนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30@30 คือในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ. 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือประมาณ 700,000 กว่าคัน โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถบัส/รถบรรทุก 34,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน การผลิตรถสามล้อ 2,200 คัน เรือโดยสาร 480 ลำ และรถไฟระบบราง 850 ตู้
สนพ. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐาน จำเป็นต้องจัดทำร่างแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น เพื่อให้สอดคล้องและรองรับเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมาย เพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอ และสามารถบริหารทรัพยากรจากยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและยั่งยืน แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
1.การส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอ ผ่านหน่วยงานและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งด้านการลงทุนและพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ การสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร รวมไปถึงการส่งเสริมผ่านมาตรการทางการเงินและภาษี
2.การสร้างกฎระเบียบ มาตรฐาน และแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งการจัดทำระเบียบและมาตรฐานเพื่อการสื่อสารและความปลอดภัย รวมทั้งระเบียบและมาตรฐานการติดตั้งและการพัฒนาพื้นที่
3.การส่งเสริมเทคโนโลยีด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เพื่อเชื่อมโยงและบริหารจัดการการประจุไฟฟ้าแบบบูรณาการ ในส่วนนี้มีงานสำคัญคือ การจัดทำนโยบายโครงสร้างพื้นฐานมิเตอร์อัจฉริยะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล และการเชื่อมโยงสถานีอัดประจุและยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
ปัจจุบันจำนวนและตำแหน่งสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีทั้งสิ้น 944 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) แบ่งเป็นเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 473 สถานี ภาคกลางจำนวน 152 สถานี ภาคตะวันออกฉียงเหนือจำนวน 95 สถานี จำนวน 109 สถานี และภาคใต้ จำนวน 115 สถานี
จากการสำรวจพฤติกรรมการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พบว่า 80% ชาร์จที่บ้าน 15% ชาร์จที่ทำงาน และ 5% ชาร์จในที่สาธารณะ ดังนั้นจึงมีกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุในระยะสั้น โดยเน้นการลงทุนและพัฒนาหัวจ่ายในระบบการชาร์จแบตเตอรี่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น (Fast Charge) ในที่สาธารณะ ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง น้อยกว่าแบบ Normal Charger ที่ใช้เวลา 6 – 7 ชั่วโมง
“การเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า หัวใจ คือ ต้องสอดคล้องเพียงพอกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2568 มีเป้าหมายเพิ่มหัวจ่ายจำนวน 2,200-4,400 หัวจ่าย และในปี 2573 ตั้งเป้าหมายหัวจ่ายจำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง ครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน”
แผนพัฒนาสถานีอัดประจุสาธารณะและเครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ ในปี ค.ศ. 2030 ที่เหมาะสม แบ่งเป็น เขตกรุงเทพและปริมณฑลในพื้นที่เมืองควรมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 3,670 เครื่อง สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จำนวน 3,131 สถานี ภาคกลาง ควรมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่เมือง จำนวน 1,364 เครื่อง สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จำนวน 1,780 สถานี ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ควรมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่เมือง จำนวน 1,189 เครื่อง สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จำนวน 1,797 สถานี ภาคเหนือ ควรมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่เมือง จำนวน 1,085 เครื่อง สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จำนวน 960 สถานี และภาคใต้ ควรมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่เมือง จำนวน 919 เครื่อง สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จำนวน 623 สถานี
การดำเนินการข้างต้น เป็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สถานีอัดประจุไฟฟ้า รองรับบการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และมีความสอดคล้องกับทิศทางภาพรวมในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีเพียงพอต่อความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และไม่เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว