นักวิจัย สวทช. คว้า 2 รางวัล ผลงานวิจัยแห่งชาติ

นักวิจัย สวทช. คว้า 2 รางวัล ผลงานวิจัยแห่งชาติ

นักวิจัย

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานในการมอบรางวัล ผลงานวิจัยแห่งชาติที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2565 Prime Minister’s TRIUP Award for Research Utilization with High Impact 2022 โดย นักวิจัย ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คว้ารางวัลระดับดี 2 รางวัล พร้อมเงินรางวัลจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) รางวัลละ 100,000 บาท ประกอบด้วย

ผลงาน “แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองผ่านระบบพูดคุยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ได้รับใบประกาศเกียรติคุณระดับดี สาขาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผลงานโดย ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม และทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับแจ้งปัญหา พร้อมทั้งส่งตรงถึง ‘หน่วยงานผู้รับผิดชอบ’ ช่วยให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ปัญหาไม่ลุกลาม ตรงตามความต้องการของประชาชน ที่สำคัญตรวจสอบได้

นักวิจัย
ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง และทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.

และผลงาน “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารเพื่อเร่งการเจริญของพืช” ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีขั้นสูง ผลงานโดย ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง และทีม นักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้พัฒนา “สารคีเลตจุลธาตุอาหาร” ที่เตรียมจากกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวนการห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมพัฒนาให้สามารถห่อหุ้มจุลธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20% ลดการใช้ปุ๋ยลง 50%

นักวิจัย
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม และทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

พิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อยกย่องและสร้างความตระหนักในคุณค่าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสร้างผลกระทบสูง ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจ และสื่อให้เห็นความสำคัญของลักษณะที่แตกต่างระหว่างเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) อันเป็นผลจากการพัฒนางานวิจัยที่มุ่งเป้าสู่การใช้ประโยชน์การแก้ไขปัญหาสำคัญ หรือการพัฒนาประเทศ ตามความประสงค์ของการสร้าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนา “Tech Talk: การนำเสนอเทคโนโลยีเด่นที่สร้างผลกระทบสูง ในสาขา Deep Technology และ Appropriate Technology”

งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย​ TRIUP​Fair​ 2022” ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2565 ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ผู้สนใจติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สกสว. https://www.tsri.or.th/

Related Posts