AIS อุ่นใจไซเบอร์ ควงแขน จอยลดา เสริม Digital Literacy ให้เยาวชน ผ่าน นิยายแชท

AIS อุ่นใจไซเบอร์ ควงแขน จอยลดา เสริม Digital Literacy ให้เยาวชน ผ่าน นิยายแชท

Digital Literacy

นอกเหนือจากภารกิจในการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยแล้ว AIS ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้สังคม ลูกค้า และประชาชนทุกกลุ่ม รู้เท่าทันภัยด้านไซเบอร์หลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดตามมาจากการใช้งานบนอินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียล ในฐานะผู้นำตลาด AIS ยังคงทำงานอย่างสอดประสาน ผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างมาตรฐานดัชนีชี้วัดทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ บนแพลตฟอร์มที่ให้คนไทยสามารถเข้ามาเรียนรู้วัดระดับการรับมือกับภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ

เพื่อเป็นการขยายผลเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับภัยไซเบอร์ไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Next Gen ด้วยกลยุทธ์ Edutainment ที่ต้องการสร้างรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ ทำให้เป็นที่มาของการทำงานร่วมกับ “จอยลดา” แพลตฟอร์มนิยายแชทชั้นนำที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านดาวน์โหลด ในการใช้ศักยภาพความแข็งแกร่งร่วมกันทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ของ AIS และ การสร้าง Storytelling จากภัยไซเบอร์ในรูปแบบนิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนถึง 7 ทักษะหลักที่คนไทยควรรู้ในยุคไซเบอร์ ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวล ความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดี

Digital Literacy
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS อธิบายว่า การสร้างความปลอดภัยด้านการใช้งาน สร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ และป้องกันความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต และเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัล หรือ Digital Literacy ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย และผู้นำด้านบริการดิจิทัล ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ ที่มี 2 แนวทางการทำงานหลัก คือ

1.) การสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะการรับมือทางดิจิทัลให้รับรู้ถึงอันตรายและผลกระทบของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแบบใช้ผิดวิธี ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายและต่อเนื่อง อย่างการทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรมสุขภาพจิต มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลที่รับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นหลักสูตรด้านดิจิทัลครั้งแรกของประเทศ ทำให้เราได้นำพาสังคมไทยให้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างมาตรฐานของการเรียนรู้ การวัดระดับทักษะดิจิทัล

2.) การป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยการพัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยี บริการดิจิทัล อาทิ  AIS Secure Net, Google Family Link และล่าสุดบริการสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center

นางสายชล อธิบายต่อไปอีกว่า “ในปีที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรมประกวดแผนสื่อสารการตลาด ร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จากผลการศึกษาของน้องๆ มีผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการรับสื่อของคนรุ่นใหม่ ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่สื่อชนิดเดียวที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ อีกหลากหลายตามการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ อย่าง จอยลดา ก็นับว่าหนึ่งในเป็นแพลตฟอร์มนิยายแชทยอดนิยม ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของเราในการถ่ายทอดเนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวด้วยรูปแบบวิธีการใหม่ๆ แบบ Edutainment ที่นำเนื้อหาด้านวิชาการมาปรับให้น่าสนใจเข้าใจง่าย ทำให้เราได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับ จอยลดา ในการนำเนื้อหาจากหลักสูตรออกมาแปลงเป็นเนื้อหานิยายแชทครั้งแรกในไทย โดยเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาภัยไซเบอร์ วิธีการรับมือ และทักษะหลักที่คนไทยควรรู้ ออกมาเป็น 7 เรื่อง บนแพลตฟอร์มของจอยลดา”

นายศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา อธิบายเสริมว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ AIS อุ่นใจไซเบอร์ เพราะปัญหาจากภัยไซเบอร์ในทุกวันนี้ยิ่งสร้างผลกระทบให้กับผู้คนในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เราในฐานะแพลตฟอร์มที่เป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่มีผู้ใช้งานรวมมากกว่า 10 ล้านดาวน์โหลด อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เราต้องการให้คอมมูนิตี้ของจอยลดาเป็นพื้นที่สำหรับการเสพเรื่องราวที่สร้างสรรค์ และปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ใช้งาน

จากความร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้เราได้ใช้ขีดความสามารถของแพลตฟอร์ม รวมถึงดึงกลุ่มนักเขียนและ Content Creator มาร่วมกันครีเอทเรื่องราวจากเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เป็นนิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงภัยไซเบอร์ด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งความสนุกจากเนื้อหาของนิยาย และประโยชน์ที่ได้รับถึงแนวทางการรับมือเมื่อเจอกับภัยไซเบอร์ เพราะในท้ายที่สุดเราต้องการที่จะทำให้คอมมูนิตี้ของจอยลดามีส่วนช่วยทำให้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะภัยไซเบอร์ลดลงได้จากศักยภาพของเรา”

Digital Literacy
นายศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา

สำหรับความร่วมมือระหว่าง AIS อุ่นใจไซเบอร์ และจอยลดา ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระความรู้ในเรื่องภัยไซเบอร์จากหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สร้างสรรค์ออกมาเป็นนิยายแชท รวม 7 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหา 7 ด้านและ 7 ทักษะที่ควรรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ โดยนักเขียนยอดนิยมจากจอยลดา ดังนี้

 

  • Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ
  • Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล
  • Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
  • Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
  • Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ / Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์
  • Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว
  • Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์

โดยเนื้อหาทั้งหมดจะถูกสร้างสรรค์ให้สนุก เข้าใจง่าย ตามสไตล์ของจอยลดา ซึ่งจะทำการเผยแพร่บนแอปพลิเคชัน “Joylada” และทาง Microsite (joylada.com/aisxjoylada)  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมมากมาย เพื่อสร้างเสริมความรู้และทักษะการใช้งานบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย อาทิ ทุกการอ่านของทุกคนจะช่วยสมทบทุนบริจาคให้แก่ “มูลนิธิสายเด็ก 1387”  ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวลความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดี

นางสายชล กล่าวในช่วงท้ายว่า “เราไม่หยุดที่จะตั้งคำถามเพื่อหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัล เข้าใจ รู้เท่าทัน ภัยไซเบอร์ โดยยังคงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อขยายผลองค์ความรู้และเครื่องมือที่มีไปยังคนไทยทุกกลุ่ม รวมถึงวันนี้ AIS ยังเดินหน้าขยับเป้าหมายด้านการส่งเสริมทักษะดิจิทัล หรือ Digital Literacy ให้มีมาตรฐานใหม่ และมีดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกถึงระดับทักษะการรับมือภัยไซเบอร์ที่จับต้องได้ ซึ่งกระบวนการทำงานในลักษะนี้จะทำให้ภารกิจการส่งเสริมทักษะดิจิทัลเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

Digital Literacy

เนื้อหานิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหา 7 ด้านและ 7 ทักษะที่ควรรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวลความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดี

  1. let’s level up! เพื่อเธอ เพื่อฝัน เพื่อฉันคนใหม่

ทักษะด้าน Cyber Safety การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

อคินถ่ายคลิปตลกตามคำชวนของเพื่อนจนโด่งดังในข้ามคืน ทำให้แอคเคานท์ของอคินเริ่มมีคนเข้ามาติดตามมากมาย จนกระทั่งมีคนชวนไปแคสติ้งซีรีย์วาย อคินผ่านการแคสติ้ง ได้รับการโปรโมท จึงยิ่งมีคนติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ มีงานรีวิว มีรายได้มากขึ้น อคินคิดว่าตัวเองน่าจะเดินทางในสายนี้ได้อย่างราบรื่น ใช้ประโยชน์จากวงการนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แต่แล้วกลับมีชาวเน็ตประสงค์ร้าย ปล่อยข่าวลือว่าอคินเข้าวงการมาแบบไม่โปร่งใส เป็นเด็กเลี้ยงของไฮโซสาวใหญ่ มีการแชร์ภาพตัดต่อเพื่อจงใจกลั่นแกล้ง หลังจากนั้นข่าวลือแย่ๆก็มีมาเรื่อยๆ บางคนก็ออกมาแฉว่าอคินเคยดูถูกเกย์ตอนมัธยม แต่พอเข้ามหาลัยกลับมาแสดงซีรีย์วาย อคินโดนโจมตีจนต้องเก็บตัว ไม่อยากพูดคุยกับใคร เพราะเรื่องนี้ทำให้อคินต้องดรอปเรียน ขอถอดตัวจากซีรีย์ และถูกวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคแพนิค โชคดีที่มีครอบครัวและเพื่อนคอยช่วยเหลือและช่วยแก้ข่าว ทำให้อคินเข้มแข็งขึ้น

  1. Let’s Level Up! หนึ่งคลิกพลิกอนาคต

ทักษะด้าน Cyber Communication ร่องรอยบนโลกออนไลน์

ในปี 2050 “ไอออน” นักศึกษาจบใหม่ที่ถูกปฏิเสธการรับสมัครงานจากบริษัทแนวหน้าเนื่องจากมี “คะแนนนิยม” ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งที่เป็นเด็กหัวกะทิความประพฤติดีมาตลอด จึงต้องอาศัยความสามารถของ “แอนดี้” แฮ็คเกอร์ชาวต่างชาติที่สามารถสืบหาต้นตอปัญหาด้านคะแนนนิยมของเขา จนต้องเข้าไปพัวพันกับอุปกรณ์ย้อนเวลาเพื่อกลับไปแก้ไขสถานการณ์ ไอออนต้องทำทุกวิถีทางแก้ไข “คะแนนนิยม” ให้อยู่ในจุดที่มันควรจะเป็น

  1. Let’s Level Up! ขอเป็นนายแค่ 5 นาที

ทักษะด้าน Cyber Identification อัตลักษณ์พลเมืองไซเบอร์ / Cyber Empathy มารยาททางไซเบอร์

เนื้อเรื่อง แฝดน้อง (อิ่มเอม) ต้องการมีตัวตนบนโลกเพราะมองว่าตัวเขาเองนั้นช่างจางหายเหมือนละอองฝนเหลือเกิน แต่รู้ตัวดีว่าโลกความเป็นจริง เขาแทบไม่มีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับ (ตัวละครคิดเองจากการโดนคนรอบตัวทรีต) เขาถูกเปรียบเทียบมาโดยตลอด และ การโดนเปรียบเทียบนั้น เขาก็รู้ตัวว่าเขาเทียบคนนั้นไม่ติดได้เลย ก็คือ แฝดพี่ (อิ่มอุ่น) ทำไมกัน ทำไมต้องเป็นอิ่มอุ่นที่ได้รับความรักมากมายจากทุกคน ทำไมไม่เป็นเขาบ้าง จึงทำให้ อิ่มเอม เกิดความคิดชั่ววูบในช่วงตอน มัธยมปลาย 5 ก็คือกูขอเป็นมึงซัก 5 นาทีนะแค่ 5 นาทีก็ยังดี สู่การขโมยแอคเคานต์ SMS ของอิ่มอุ่นมาเล่น เพราะอิ่มอุ่นเป็นคนไม่เล่นโซเชียล มีไว้ให้พ่อแม่พี่น้องแท็กอะไรต่าง ๆ เท่านั้น มันจึงไม่ยากเกินความสามารถของอิ่มเอมที่จะเดารหัสของอิ่มอุ่นได้ และเริ่มต้นการขโมยตัวตนอิ่มอุ่น มันทำให้อิ่มเอมรู้สึกว่าตัวเองมีค่า แล้วมันก็ถลำจนเขามีแฟนโดยตัวเองกำลังปลอมตัวเป็นแฝดพี่ของตัวเอง

  1. Let’s Level Up! ความฝันของอันดา

ทักษะด้าน Cyber Rights การจัดการความเป็นส่วนตัว

อันดาอยากเป็นยูทูปเบอร์ อยากเป็นนักร้องแต่ที่บ้านไม่สนับสนุนเพราะเป็นลูกสาวคนเดียวและเป็นลูกคนเล็ก ถึงจะตามใจแต่ไม่เคยยอมในเรื่องนี้และยังคาดหวังเรื่องเรียนมาก อันดาไม่ชอบการเรียนแต่ก็พยายามมาตลอด อันดาจะบ่นเรื่องราวความไม่สบายใจเหล่านี้ลงทวิตเตอร์ตลอด คนที่รู้เรื่องมีแค่เพื่อนสนิทสองคน จนวุ้นหนึ่งอันดาได้รู้จักกับวุ้นที่ทักส่วนตัวมาและเริ่มพูดคุยกัน วุ้นจะคอยปลอบใจและแสดงความเป็นห่วงเป็นใยเสมอ หลังรู้จักกันประมาณสองเดือน อันดาก็เริ่มรู้สึกว่ามีคนตามตัวเองเวลาไปไหนมาไหน มีของส่งมาที่บ้านให้อันดาและอีกหลายอย่าง อันดาบอกวุ้นกับเพื่อนสนิททั้งสอง วุ้นบอกว่าจะพาไปแจ้งความให้ออกไปเจอได้ตลอด อันดาลังเลแต่เชื่อใจ บังเอิญอคินมาเจอแชทระหว่างอันดากับวุ้นพอดีเลยเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาพ่อ ที่บ้านจึงเข้ามาพูดคุยกับอันดาและช่วยกันจัดการปัญหา

  1. Let’s Level Up! คุณพ่อผู้พิทักษ์

ทักษะด้าน Cyber Security การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล

เรื่องเริ่มต้นจากการที่คุณเจตน์ต้องการข้อมูลของคนในหมู่บ้านไปรวบรวมทำการตลาดเกี่ยวกับงานของตนเองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทุกคน (PDPA) โดยไม่ทราบว่าสิ่งนี้ผิดกฎหมาย คุณเอกรัตน์จึงต้องคอยหาวิธีเตือนและให้ความรู้โดยที่ไม่ให้ผิดใจกับเพื่อนสนิท

  1. Let’s Level Up! รู้ไว้ใช่ว่าฉบับป้ามหาภัย

ทักษะด้าน Cyber Ability ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

คุณแม่ไม่มีวิจารณญาณในการเสพสื่อ มิหนำซ้ำยังเป็นคนขี้ตื่นตูม เชื่อทุกอย่างบนโลกโซเชียล(ที่ไม่ควรเชื่อ) ทำให้เกิดปัญหามากมาย จากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเกิดจากมีคนมาซื้อบ้านที่อยู่ถัดไปสี่หลัง ก๊วนเพื่อนบ้านของเธอบอกว่าเป็นดาราหนุ่มที่เพิ่งมีข่าวฉาวเรื่องยาเสพติด แถมยังเคยมีข่าวลือเรื่องลวนลามเยาวชนอีกต่างหาก! พอรู้แบบนั้นเลยยิ่งระแวงเพื่อนบ้านใหม่ เรื่องอะไรเธอจะปล่อยให้ลูก ๆ ของเธออยู่ร่วมหมู่บ้านกับคนน่ากลัวแบบนี้ อรจึงร่วมมือกับก๊วนเพื่อนบ้านคอยจับตาดูเพื่อนบ้านใหม่ทุกฝีก้าว เพราะเธอสัมผัสได้ว่านายคนนั้นมีอะไรไม่ชอบมาพากล เธอค่อย ๆ ถลำลึกลงไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะหาหลักฐานมาเปิดโปงชายคนนี้ โดยที่เธอไม่คิดเลยว่าเธอว่าสิ่งที่เธอทำจะทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง

  1. Let’s Level Up! อย่าลาสแกรนมา

ทักษะด้าน Cyber Balance ทักษะการจัดสรรหน้าจอ

วงการเกมกำลังให้ความสนใจกับเจ้าของช่อง “อย่าลาสแกรนมา” ซึ่งเป็นคุณย่าวัยเกษียณที่ผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์อย่างเต็มตัว ด้วยอายุที่เยอะแต่มีฝีมือการเล่นตัวดาเมจอย่างจัดจ้าน แอบคนในบ้านสตรีมเกมเพราะกลัวว่าจะถูกว่า จากแอบได้วันละ 1-2 ชั่วโมงก็เริ่มเพิ่มเวลามากขึ้นตามที่ช่องแชทเสนอ ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้ทำให้เกิดช่องว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว กว่าจะช่วยกันหาทางแก้ไขคุณย่าก็ประสบปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง

Related Posts