กรุงศรี ฟินโนเวต ซุ่มตั้งกองทุนสตาร์ทอัพใหม่ราว 1,000 ล้านบาทในปีหน้า หวังเพิ่มจำนวนกลุ่มสตาร์ทอัพเริ่มต้น ( Pre-Seed ) หลังไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดแคลนจากเหตุการณ์ปิดตัวลงของศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และทิศทางการลงทุนของ VC ที่มุ่งเน้นแต่ Post Series A เป็นหลักในช่วงที่ผ่านมา พร้อมเผยความคืบหน้ากองทุนสตาร์ทอัพกองแรกของไทย “ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I” หลังระดมงบได้กว่า 5,000 ล้านบาท และกองทุน Finnoverse ที่ทุ่มกว่า 1,000 ล้านกรุยทางสู่โลกเสมือนจริง
- – ไทย จับมือ เวียดนาม เสริมศักยภาพสตาร์ทอัพอาเซียน
- – สภาดิจิทัลฯ คาด ร่าง พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีลงทุน สตาร์ทอัพ พร้อมใช้ต้นปี
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต กล่าวว่า วันนี้การผลักดันสตาร์ทอัพที่เกิดใหม่ให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างถูกทิศถูกทางเป็นสิ่งที่จำเป็นของประเทศไทย เพราะถ้าเทียบกับต่างประเทศเรายังขาดส่วนของการลงทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่กลุ่ม Pre-Seed เนื่องจากการปิดตังลงของศูนย์บ่มเพาะ ขณะที่กลุ่มนักลงทุนก็มุ่งเน้นไปที่การลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพที่เริ่มสร้างรายได้แล้วอย่างซีรี่ย์ Aเป็นต้นไป ทำให้กลุ่มสตาร์ทอัพเกิดใหม่เริ่มไม่ค่อยมีให้เห็นในเมืองไทย
เราจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ในปีหน้า ด้วยงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาช่วยลงทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่นี้ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างธุรกิจ พร้อมการตั้งทีมเฉพาะกิจเข้าไปช่วยดูแลการก่อร่างสร้างตัวของสตาร์ทอัพเกิดใหม่โดยเฉพาะ แต่กระนั้นทางกองทุนก็จะต้องพิจารณาความเสี่ยงให้เกิดความรอบครอบสูงสุด ก่อนพิจารณาสนับสนุน เนื่องจากเป็นเงินของลูกค้าที่เราจะต้องดูแลตามมาตรฐาน กลต. โดยจะจัดเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็จะมีอัตราผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในปี 2566
นับตั้งแต่การเข้าร่วมลงทุนกับ Finnomena กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง กรุงศรี ฟินโนเวตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 5ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากจำกันได้เมื่อเรามีสตาร์ทอัพได้สักพัก การประกาศกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เริ่มเอื้อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนกับสตาร์ทอัพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เชื่อว่าการลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นก็จะพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
ก่อนหน้านี้เราได้ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพด้วยเงินของตนเองมาแล้วกว่า 16 ราย นับตั้งแต่ช่วงปี 2560 เป็นต้นมา แต่วันนี้เราเดินมาถึงช่วงยุค 3.0 ซึ่งเปิดให้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้เข้ามาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพได้ง่ายขึ้น ผ่านกองทุน “ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I” ที่ได้เริ่มจัดตั้งมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา (2 ธันวาคม 2564)
ซึ่งก็ตั้งงบประมาณกองทุนไว้กว่า 5,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันก็มีผู้เข้าร่วมลงทุนแล้วกว่า 2,620 ล้านบาท และมีการโอนเงินเข้ากองทุนมาแล้วกว่า 1,560 ล้านบาท ผ่านนักลงทุนระดับองค์กร 4 องค์กรใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTT OR) สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จำกัด (มหาชน) (TF) และ NTT DATA และ 2 สถาบันการเงินอย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กรุงศรี ฟินโนเวต อีกทั้งยังมีจากกองทุน KFFPVE-UI ของ บลจ.กรุงศรี ซึ่งจะเป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์กลุ่มสตาร์ทอัพดาวรุ่งและนวัตกรรมเป็นหลัก
ปัจจุบันกองทุน “ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I” ได้ร่วมลงทุนไปแล้วกับ 7 สตาร์ทอัพ ทั้ง FLASH Express สตาร์ทอัพด้านระบบขนส่งอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นเป็นยูนิคอร์นแล้ว, WISESIGHT ระบบวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย, BUILKONE บริษัทเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์, ZIPMEX กระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, PEAK ระบบบัญชีบนคลาวด์, ZORT ระบบจัดการหลังบ้านการค้าออนไลน์ และ ADDX แพลตฟอร์มหลักทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งยังมีอีก 1 ดีลที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีการลงทุนไปแล้วทั้งหมดกว่า 326.3 ล้านบาท
ในอนาคตจะมีการลงทุนกับสตาร์ทอัพ 8 กลุ่มที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการเจรจา แบ่งเป็น 1ด้านเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลลูกค้า (สตาร์ทอัพไทย) 2 ด้านการจัดการสิทธิพิเศษ (สตาร์ทอัพ APAC) 3 กลุ่มแพลตฟอร์มด้านแฟชั่น (สตาร์ทอัพ APAC) 4 แพลตฟอร์มสิทธิประโยชน์ (สตาร์ทอัพ APAC) 5 แพลตฟอร์มซื้อขายอะไหล่รถยนต์ (สตาร์ทอัพไทย) 6 ผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (สตาร์ทอัพเวียดนาม) 7 แพลตฟอร์มจองการท่องเที่ยว (สตาร์ทอัพ APAC) และ 8 แพลตฟอร์มการดูแลสุขภาพ (สตาร์ทอัพเวียดนาม)
ขณะที่กองทุน FINNOVERSE ที่จะลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีบล็อกเชนและกลุ่มเทคโนโ,ยีการลงทุนแบบไร้ตัวกลาง ซึ่งจะมีงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท (30 ล้านเหรียญ) แบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ปี ๆ ละเท่า ๆ กัน จะมีการลงทุนใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีหลักแบ่งออกเป็น 1.เทคโนโลยีการลงทุน ซึ่งจะมองหาในกลุ่มต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการลงทุนเป็นหลัก 2.กลุ่มเทคโนโลยีการเงินไร้ตัวกลางหรือ DeFi 3. กลุ่มผู้พัฒนารายใหญ่ทางด้าน GameFi, NFT, Metaverse, Web3.0 และกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในส่วนนี้เราได้ลงทุนกับ ZIPMEX แล้ว
4.กลุ่มเทคโนโลยีโปรโตคอล ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักพัฒนาบล็อกเชนเพื่อธุรกิจทั้งระดับ L1 หรือ L2 และ 5.กลุ่มโครงสร้างทางเทคโนโลยี ทั้งเรื่องการจัดการลูกค้า ความปลอดภัย สินทรัพย์ดิจิทัล การจัดการ B2B และการบัญชีดิจิทัล ซึ่งกลุ่มนี้เราได้เริ่มลงทุนแล้วกับ ADDX ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเชื่อมโลกการเงินเก่ากับการเงินใหม่เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาเป็นโทเค็นที่ได้รับการรับรองโดยธนาคารแห่งชาติของสิงคโปร์ ทำให้เกิดการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างทางได้คล่องตัวมากขึ้น นอกนั้นยังอยู่ระหว่างการหาและเจรจา
โดยในภาพรวมของปี 2565 นั้นน่าจะจบการลงทุนได้ราว 12 กิจการ ซึ่งการลงทุนที่ผ่านมา เราก็มีอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อยู่ที่ราว 25% ต่อปี ซึ่งผ่านมา 4ปีแล้ว ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตั้งเป้าสู่เบื้องหลังเทคโนโลยีทางการเงินให้กับพาร์ทเนอร์
วันนี้แม้ว่าเราจะยังไม่เห็นความชัดเจนของการลงทุนมากนัก เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่อยู่ในช่วงกลับตัว แต่เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเมื่อเกิดการไหลของเงินจากนักลงทุนเข้าสู่การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นตลาดหมี เมื่อนั้นเราก็จะต้องมีบริการสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องผ่านการอนุญาตของ ธปท.ด้วย แต่ก็ไม่จำเป็นที่อยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ และเตรียมการด้านโครงสร้างให้พร้อม และเตรียมผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ลูกค้ากลุ่มใหม่สนใจให้มากที่สุด
ระบบหลังบ้านควรจะต้องเปลี่ยนให้พร้อมรองรับการทำงานแบบไร้รอยต่อมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าและพาร์ทเนอร์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริการที่จะมีการใช้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีหลักหลังบ้านเลยทีเดียว ซึ่งเราเห็นตัวอย่างในต่างประเทศที่ธนาคารขนาดกลางสามารถให้บริการได้ ด้วยคนดูแลที่มีอยู่เพียงแค่ 40 คนเท่านั้นด้วยหลังบ้านที่มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยจัดการเป็นหลัก ขณะที่บางธนาคารที่มีขนาดเทียบเท่าธนาคารกรุงศรี เราก็พบว่ามีการใช้พนักงานเพียงแค่ 10% เท่านั้นเมื่อเทียบกับของเรา
เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ใช้และพาร์ทเนอร์ได้แบบอัตโนมัติด้วยรูปแบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi) มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการจับคู่ (Peer2Peer) ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้กับผู้ที่ต้องการฝากเงินแบบอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากแบบในอดีต หรือการกู้ของเอสเอ็มอี ผ่าน Peer2Peer ก็จะไม่ต้องใช้เอกสารหรือหลักทรัพย์ในการยื่นกู้เลย แต่จะพิจารณาจากข้อมูลในปริมาณที่มากพอของเอสเอ็มอีรายนั้น ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศอินโดนีเซีย ผ่านระบบ Open Data ที่บริษัทต่าง ๆ จะถูกบังคับให้แสดงยอดร้อยละของโอกาสการลงทุนที่ดี ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่มากพอในการตัดสินใจลงทุนโดยที่ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันเลย
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราอาจจะต้องรอการเปิดเผยของข้อมูลที่มากขึ้น รอระบบการยืนยันตัวตนของเอสเอ็มอี และยังรอความเชื่อมั่นอีกหลายประการเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลได้ออกหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่ง Peer2Peer ภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการเข้ามาดิสรัปชั่น ธนาคารรูปแบบเดิม ๆ ในปัจจุบันได้เลยทีเดียว