ภาคประชาชน บุก กสทช. หักซิม แดง-ฟ้า แสดงจุดยืน

ภาคประชาชน บุก กสทช. หักซิม แดง-ฟ้า แสดงจุดยืน

ภาคประชาชน

ภาคประชาชน ไม่ทน! หักซิม แดงฟ้า แสดงจุดยืน หลัง กสทช.ส่งหนังสือถึงนายกฯ ให้กดดันสำนักงานกฤษฎีกาตีความอำนาจตนเอง เป็นครั้งที่ 2 หวังให้เคาะว่า กสทช ไม่มีอำนาจ ได้แค่รับรายงาน แล้วเปิดทางให้เอกชนควบรวมได้เลย ส่อเจตนาเร่งปิดดีลทรูดีแทค ชี้เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรยืมมือใครถามหา อำนาจตน พร้อมเดินหน้าเรียกร้องให้ กขค.ออกมาทำหน้าที่ อย่าขาลอย ต้องปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค หากปล่อยดีลนี้ผ่าน เกิดผูกขาดตลาดแน่นอน

(29 สิงหาคม 2565) กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อยืนหนังสือร้องเรียนถึงศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช.และบอร์ดทั้งหมด จากกรณีที่ กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของตน ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นรอบที่ 2 แสดงถึงเจตนาและความพยายามที่จะไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง ครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนนูญอย่างชัดเจน โดยกลุ่มได้ทำการ หักซิม สีฟ้าสีแดง แสดงจุดยืนในการคัดค้านดีลควบรวมธุรกิจ ทรูและดีแทค

ตัวแทนกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร กล่าวว่า กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ผู้ประกอบการ มิใช่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกอบการแต่เพียงอย่าง และต้องไม่ถูกครอบงำจากอำนาจฝ่ายบริหาร จากการที่ กสทช. ได้มีการทำหนังสือไปหากฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่าไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล

ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะส่งหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรี เสื่อมเสีย และมีความเสี่ยงในการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย

ภาคประชาชน

ตัวแทนกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ย้ำว่า การควบรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะต้องรับภาระราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 2.03-244.50% (อ้างอิงผลการศึกษา กสทช.) หรือไม่มีโอกาสที่จะปรับราคาลดต่ำลงได้ เหมือนเช่นในอดีต ที่มีการแข่งขันกันกันสูง หากอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ นอกจากเป็นการลดทางเลือกผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างอาณาจักรเพิ่มเติมของนายทุนให้สามารถดำเนินการธุรกิจแบบ Cross Industry การบริการจะถูกย้ายจาก ร้านค้าลูกตู้ ไปยัง ร้านค้าปลีก 7/11 เพราะไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้าให้ร้านค้า อีกต่อไป

ซึ่งทางกลุ่มหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในฐานะองค์กรอิสรที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่ทำให้เกิดการลดการแข่งขัน อันอาจจะทำให้ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หลังจากนั้น กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารได้เดินหน้าต่อไปยัง สำนักงานการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานดังกล่าว พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค ซึ่งจะเป็นการควบรวมของบริษัทเอกชนทั้ง 2 บริษัท ประเทศแรกในโลก ที่มีการอนุญาตให้ควบรวมผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาดตลาด ลดทางเลือกในการใช้บริการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกด้านราคา ทางเลือกด้านบริการหลังการขาย และ ทางเลือกด้านคุณภาพการใช้บริการ

ภาคประชาชน

เนื่องจากก่อนหน้านี้ กขค. มีความเห็นว่า กสทช. มีกฎหมายเฉพาะ สามารถพิจารณาการควบรวมดังกล่าวเองได้ เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องใบอนุญาตบริการ คลื่นความถี่ และเรื่องทางเทคนิคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องกำกับดูแล แต่ผลกระทบกับตลาดการแข่งขัน กขค. ย่อมไม่อาจปฏิเสธอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องเข้ามาพิจารณาควบคู่กับไปกับการพิจารณา ของ กสทช.

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการณ์ เลขาธิการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช ๒๔๐๒/ ต่อ นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายว่า “ถ้าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณาต่อกรณีนี้ ก็จะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ กสทช ซึ่งจากการทำเรื่องส่งไปในครั้งที่แล้วทางกฤษฎีกาก็มีหลักเกณฑ์กลับมาว่าเรื่องอยู่ในศาล ครั้งนี้เราก็เลยทำเรื่องเข้าไปให้พิจารณาอีกครั้ง ผ่านทางนายกรัฐมนตรี ส่วนท่านจะสั่งการหรือยังไม่แน่ใจ ซึ่งคาดหวังอำนาจจากนายกรัฐมนตรี สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความให้ ถ้าท่านอนุเคราะห์ให้เราในการตีความก็จะขอบคุณมาก เราเป็นองค์กรอิสระก็จริงแต่ก็อยากฟังความเห็นของหลายๆ ฝ่ายเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากท่านฯ ตีตกกลับมาก็ไม่ได้กระทบกับเงื่อนเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการ”

Related Posts