ดร.สมเกียรติ ยกมติควบรวม กสทช. เป็นมติอัปยศ ของเสียงข้างมากโดยแท้

ควบรวม ทรู-ดีแทค

รับทราบ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณี กรรมการ กสทช. ลงมติในการอนุญาตให้ควบรวมทรูและดีแทค ว่า การลงมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ของ กสทช. ซึ่งยอมให้ทรูและดีแทคควบรวมกัน โดยอ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการห้ามการควบรวม เป็น “มติอัปยศ” ของเสียงข้างมากโดยแท้ เนื่องจากเป็นมติที่ กสทช. จงใจตัดอำนาจของตน ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีการผูกขาดมากขึ้น

= เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ไม่มีผลลดความเสียหาย

เมื่อยอมให้เกิดการควบรวมแล้ว กสทช. ก็ได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไว้ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม ทั้งที่มาตรการเหล่านี้แทบไม่มีผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้บริโภคเลย กล่าวคือ

1. การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันลดราคาเฉลี่ยลง 12% ใน 90 วันหลังควบรวม เป็นการลดราคาที่น้อยเกินไป เพราะการศึกษาชี้แล้วว่า ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงได้ขึ้น 120-244% ในกรณีที่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ นอกจากนี้โดยทั่วไป ราคาค่าบริการโทรคมนาคมในตลาดที่มีการแข่งขันก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว

2. การสั่งให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันส่งข้อมูลต้นทุน และให้มีที่ปรึกษาไปตรวจสอบต้นทุน แสดงให้เห็นว่า กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวม โดยไม่ทราบต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงการไม่ได้ทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างที่ควรจะเป็น

3. การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันคงแบรนด์ที่ให้บริการแยกจากกันเป็นเวลา 3 ปี ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการเลย และกลับทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดจากการควบรวมไม่เกิดขึ้น

4. การจัดให้มีผู้ให้บริการที่ไม่มีโครข่าย (MVNO) เข้ามาแข่งขันไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว และมาตรการที่กำหนดขึ้นก็แทบไม่แตกต่างจากมาตรการเดิมที่มีอยู่

มติอัปยศ

5. การให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการใช้คลื่นความถี่อย่างเคร่งครัด จะเป็นได้อย่างไรในเมื่อ กสทช. ไม่ได้สั่งให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันคืนคลื่นความถี่ที่ถืออยู่เกินกว่าที่กำหนดในเงื่อนไขการประมูล ซึ่งก็มีฐานะเป็น “กฎหมาย” ที่ออกโดย กสทช. เอง

6. มาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ควบรวมกันรักษาคุณภาพบริการ และการให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ก็เป็นมาตรการที่มีอยู่เดิมแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการบังคับใช้ ครั้งนี้ก็เป็นเพียงการเอามาตรการเดิมมาเติมคำว่า “อย่างเคร่งครัด” เข้าไป ซึ่งเป็นการบอกในทางอ้อมว่า ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้บังคับให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ “อย่างเคร่งครัด” เลย

7. การกำหนดให้เอกชนเสนอ “แผนพัฒนานวัตกรรม” ที่เป็น “รูปธรรม” ขึ้นมา ก็ชี้ให้เห็นว่าการกล่าวอ้างของผู้ประกอบการว่าการควบรวมจะทำให้เกิดนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน ที่สำคัญการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมของกลุ่มสตาร์ทอัพได้อย่างไร?

ดังนั้น ประชาชนจึงไม่อาจคาดหวังได้ว่า การควบรวมนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนจากการมีมาตรการต่างๆ ที่ กสทช. กำหนดขึ้น

banner Sample

Related Posts