คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Smart Mobility Research Center (Smart MOBI) และ AIS 5G เผยผลการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับ รถไร้คนขับ หลังการได้รับทุนจากกสทช. โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยผลการทดลองทดสอบเบื้องต้นเป็นประโยชน์ตามเป้าหมายอย่างยิ่ง
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวในงาน Demoday ของโครงการนี้ว่า “5G คือ เทคโนโลยีที่จะมาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็น 1 ในฐานการผลิต ดังนั้นหากเรามีการทดลอง ทดสอบการนำเอาแนวคิดของปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการขับขี่ ด้วยรูปแบบของระบบควบคุมยานยนต์อัตโนมัติ(Fully Automated) ผ่านเครือข่าย 5G ได้ ก็จะเท่ากับเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีความทันสมัย ขยายการเติบโต และสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานวิจัย ทดลอง ทดสอบ รถไร้คนขับในครั้งนี้ ด้วยเป้าหมายคือ ให้ทีมนักวิจัยพัฒนารถขับเคลื่อนอัตโนมัติขั้นที่ 3 กล่าวคือ ให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง ภายในสภาพแวดล้อมที่กำหนด และรองรับการสื่อสารระหว่างรถกับสรรพสิ่งผ่านโครงข่าย 5G รวมถึงพัฒนาและทดสอบ Use cases ต่างๆ ในระหว่างการทดลองให้บริการ ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นเป็นไปอย่างราบรื่น”
ด้าน ดร. ธีรศักดิ์ อนันตกุล หัวหน้าแผนกงานวางแผนและพัฒนาโครงข่ายวิทยุ เอไอเอส กล่าวว่า “ครั้งนี้AIS ได้นำเทคโนโลยี 5G SA ด้วยคลื่น n41 หรือ 2600 MHz เพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่องความหน่วงเวลาที่ต่ำมาก และเรื่องการดาวน์โหลด อัพโหลดข้อมูลในปริมาณมาก ๆ มาร่วมทดสอบ โดยกรณีนี้คือ การ Streaming Video จากกล้องซึ่งมีอยู่หลายตัวทั้งในและนอกตัวรถ และมีการรับส่งข้อมูลตลอดเวลาระหว่างรถและศูนย์ควบคุม
นอกจากนี้ ระบบการสื่อสารระหว่างรถและโครงข่าย (Vehicle-to-Network: V2N Communications) รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์จากระบบปัญญาประดิษฐ์ ก็สามารถรับส่งผ่าน 5G ได้เป็นอย่างดี โดยมีการอัพเดทข้อมูลสำคัญต่างๆ ระหว่างศูนย์ควบคุมและผู้ควบคุมรถได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตลอดเส้นทางที่รถเคลื่อนที่และจุดจอดตามสถานีต่างๆ”