HealthTAG ประกาศเข้า Sandbox ทดลองใช้จริงกับเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ 3 รพ.

HealthTAG ประกาศเข้า Sandbox ทดลองใช้จริงกับเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ 3 รพ.

HealthTAG

HealthTAG สตาร์ทอัพ MedTech ด้านเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ และผู้พัฒนาระบบเวชระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record) ประกาศเข้า ETDA Sandbox เพื่อทดสอบการใช้งานจริงของการเชื่อมต่อข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางข้อมูล (Data Privacy) โดยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะช่วยให้ผู้ป่วย สามารถอนุญาตและเรียกดูข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลของตนเอง ที่เคยทำการรักษาจากโรงพยาบาลในเครือข่ายได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย และเข้าถึงผ่านบัตรประจำตัวสุขภาพHealthTAG โดยที่ผู้ป่วย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชันเพิ่มเติม นำร่องใช้งานที่เครือโรงพยาบาลศิริราช  3 แห่ง

นายคณิน เปี่ยมงาม กรรมการผู้จัดการ HealthTAG เปิดเผยว่า ปัญหาของการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลเป็นอุปสรรคที่กระทบต่อการรักษาผู้ป่วย ซึ่งหลายแห่งยังคงต้องใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ เช่นการขอแฟ้มประวัติ, ใบส่งตัว เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องด้วยในอดีตที่ผ่านมา มาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางสุขภาพที่อ้างอิงมาตรฐานสากลยังไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนในการพัฒนาระบบ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพหรือ Health Information Exchange (HIE) ยังไม่ชัดเจนมากนักในระบบสาธารณสุขไทย รวมถึงไม่สามารถนำข้อมูลสุขภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางสุขภาพสากล ที่เรียกว่า Fast Healthcare Interoperability Resources ที่พัฒนาโดยองค์กร Health Level 7 หรือเรียกสั้นๆ ว่า HL7 FHIR ซึ่งมีการนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเพื่อที่จะจัดรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จากระบบสารสนเทศโรงพยาบาล Hospital Information System (HIS)  ให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน

แนวคิดของHealthTAG คือการเป็นเกตเวย์สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพตามมาตรฐาน HL7 FHIR  และเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของข้อมูล โดยได้มีการนำร่องใน 3 โรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โดยพัฒนาระบบ PHR ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

เมื่อผู้ป่วยได้ทำการสมัครเพื่อใช้งานและกดยินยอมอนุญาตให้ใช้ข้อมูลตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะได้รับบัตรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ Siriraj-HealthTAG ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำข้อมูลให้กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อใช้งานครบทุกกระบวนการรักษาแล้ว ระบบจะทำการทำลายข้อมูลที่ถูกดึงมาแสดงผล รวมถึงทำการอัพเดตข้อมูลในบล็อกเชนเพื่อบันทึก Transaction ของ การเข้าถึงข้อมูล โดยจะมีการอัพเดตข้อมูลของโรงพยาบาล ในระบบ PHR ทุกวันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรักษาและแม่นยำสูงสุด

ปัจจุบันHealthTAG ทำการพัฒนาระบบร่วมกับ 3 โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในขั้นตอนของการทดลองใช้งานจริง บน Sandbox ด้านข้อมูลทางการแพทย์ของ ETDA เพื่อเรียนรู้ปัญหาและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งานจริง ซึ่งในระยะเริ่มต้นนี้จะจำกัดภายใต้กรอบการใช้งานของการแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติการจ่ายยา และภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในขอบเขตของการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจ่ายยาซ้ำซ้อน ลดปัญหาการที่ผู้ป่วยจะต้องเตรียมนำยาเก่าไปแสดงให้แพทย์ที่สถานพยาบาลอีกแห่งดู และผู้ป่วยสามารถเข้าดูข้อมูลตนเอง ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้เกิดความสะดวก และแพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงของประวัติการให้ยาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

ทั้งนี้HealthTAG มีจุดยืนของการเป็น MedTech ที่มาจากฝีมือ ความคิด และการทำงานจริงของแพทย์ในระบบสาธารณสุขไทย อยากให้ทุกคนมองเห็นประโยชน์ตรงกัน 4 ส่วน แบ่งเป็น

1.ผู้ป่วย: ได้รับการบริการที่สมบูรณ์มากขึ้น ลดความผิดพลาด ลดการตกหล่นของข้อมูล ได้เห็นประวัติสุขภาพของตนเอง

2.บุคลากรทางการแพทย์: ลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสาร สามารถโฟกัสกับการรักษาได้มากขึ้นและแม่นยำขึ้น

3.ระบบสาธารณสุข : มีระบบการรักษาในประเทศแบบไร้รอยต่อและมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของข้อมูล อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับผู้ป่วยต่างชาติได้ง่ายขึ้น รายได้เข้าประเทศ สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยทั้งไทยและต่างชาติ และ

4.สตาร์ทอัพ: เกิด Open Data หรือข้อมูลที่มาจากการได้รับความยินยอมของคนไข้ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการข้อมูล ส่งผลให้มีข้อมูลสุขภาพของคนไทยที่สามารถนำไปพัฒนานวัตกรรม ทางการแพทย์ง่ายขึ้น

Related Posts