กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เร่งพัฒนาบุคลากรวงการสื่อ เตรียมรับมือเทคโนโลยี AI (Artificial intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่ก้าวมาสู่สังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็ว จัดเสวนา “Bridging Humanity and AI” จะเป็นอย่างไร เมื่อปัญญามนุษย์และ ปัญญาประดิษฐ์ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ เพื่อพัฒนาให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เจาะกลุ่ม ผู้ผลิตสื่อทั้ง Pre-Production, Production และ Post-Production โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ตลอด 2 วันเต็ม ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท
- – กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนา “Bridging Humanity and AI”
- – ทรู ลุยยกระดับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ชูจริยธรรม ปลอดภัยต่อมนุษย์
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ในปัจจุบัน เทคโนโลยี AI [Artificial intelligence] หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและถูกนำมาใช้ในการทำงาน มากขึ้น กองทุนสื่อ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสื่อ จึงจัดงานเสวนา “Bridging Humanity and AI” จะเป็นอย่างไร เมื่อปัญญามนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ เพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรในวงการสื่อได้ปรับตัว เสริมความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาวต่อไป
โดย Think Tank ปีที่ 2 นี้จัดขึ้นเพื่อที่จะประมวลเอาความก้าวหน้าในเรื่องของการพัฒนาสื่อ มานำเสนอให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบุคลากรซึ่งอยู่ในวงการการผลิต จะได้อัพเดทสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาว่าโลกไปถึงไหน วงการไปถึงไหนโดยในปีที่ผ่านมา มีการพูดแตะเรื่องของ AI มีการพูดถึงเรื่องเมตาเวิร์ส แต่ปีนี้มาแบบเต็มรูปแบบ จะได้อัพเดททั้งภาพกว้างและทั้งเชิงลึก ทั้งเรื่องของที่มาที่ไปของ AI การขยับตัวของอุตสาหกรรมสื่อต่อการเข้ามาของ AI อีกทั้งผลกระทบของการ Disruption ที่เกิดขึ้นกับทุกวงการ จะเป็นอย่างไรต่อไป
หลายท่านปรับตัวได้ก็อยู่รอด ปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะต้องกลับไปทบทวนแนวทางการทำธุรกิจใหม่ หรืออย่างไรก็สุดแท้แต่ ในมุมของกองทุนพัฒนาสื่อฯ เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว เราก็คิดกันแบบ พื้น ๆ ง่าย ๆ เลยว่า 1. เราต้องไปด้วยกันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อะไรเข้ามากองทุนต้องไม่ตกขบวนนี้ เราคิดแบบเบสิกมากว่าเราต้องไม่ตกขบวน เพราะฉะนั้นนวัตกรรม AI มันก็จะต้องเข้ามาช่วยในการส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของพวกเรา ภารกิจของเราที่ชัดเจนเลยก็คือ 1. การสร้างให้พลเมืองมีเครื่องมือในการเปิดรับสื่อ หรือให้มีทักษะทางดิจิทัล มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นอะไรที่จะมาช่วยเราได้ในการคัดกรองข้อมูลข่าวสาร แม่เราถูกหลอก หลายคนบอกว่าคนหลอกก็ใช้ AI ในการหลอก เราก็ต้องหันมาใช้เอไอในการป้องกันบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่กองทุนกำลังทำอยู่ ซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจมากที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้
2. การส่งเสริมกระบวนการผลิต วันนี้หลายคนก็ใช้ เมื่อลองให้เจ้าหน้าที่บางคนค้นข้อมูลมาให้ ซึ่งมีโจทย์ที่อยากรู้ว่าพฤติกรรมการเปิดรับฟังวิทยุในโลก ประเทศไหนเป็นอย่างไร วันรุ่งขึ้นก็ได้ข้อมูลมาให้แล้ว ซึ่งเป็นการให้ ChatGPT เข้ามาช่วยค้นหา ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็มีความเที่ยงตรงราว 70- 80%
ซึ่งในส่วนของกองทุนก็ต้องการให้เอไอ 1.ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นผู้รวบรวมข้อมูล หรือเป็นเสมือนนักค้นหา ในการที่จะรวบรวมข้อมูลหลายเรื่อง กองทุนฯไม่เพียงแต่ส่งเสริมผู้ผลิต แต่ยังติดตามให้คำแนะนำผู้ผลิตด้วย และหลังจากที่ให้ทุนไปแล้วก็ต้องตามไปดูว่าผลงานเป็นยังไงเพราะฉะนั้น AI จะช่วยได้เยอะ ในการค้นหาข้อมูลมาให้
2.การนำ AI มาช่วยในการผลิตผลงาน ทั้งในส่วนของงาน Pre-Production ซึ่งจะจำเป็นมากในเรื่องของข้อมูล และในกระบวนการของการผลิต ที่เชื่อว่ามีหลายส่วนที่นำ AI เข้ามาช่วยสร้างกราฟฟิกและส่วนประกอบภาพเกินจริง เราจะเห็นว่าหนังหลาย ๆ เรื่อง นำเอา AI เข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งในเมืองไทยก็มีหลายบริษัทที่จะทำ
ทั้งนี้กองทุนฯ อยากจะนำ AI มาใช้ในกระบวนการหลังการผลิตหรือโพสโปรดักชั่น ซึ่ง AI จะไปช่วยติดตามดูสถิติทั้งหมดของผลสัมฤทธิ์โครงการที่กองทุนได้สนับสนุนไป เพราะฉะนั้น AI ในวันนี้เป็นอะไรที่คิดว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัยน่าตื่นเต้น และก็เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นการหาคำตอบว่า “เอไอกับมนุษย์จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร” เอไอนั้นสร้างสรรค์ ”สื่อ” ได้ แต่ที่สุดแล้ว “สื่อ” จะเป็นประโยชน์ปลอดภัยและก่อเกิดสิ่งที่ดีงามในสังคมได้หรือไม่ เชื่อว่ายังไงก็ไม่พ้นภารกิจของมนุษยชาติ
ในการจัดเสวนา “Bridging Humanity and AI” จะเป็นอย่างไรเมื่อปัญญามนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ ได้เชิญวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการใช้งาน ได้แก่
- เสวนาหัวข้อ“การเข้ามาของ AI ในวงการสื่อแบบ 360 องศา
โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ผศ.ดร. สุกรี สินธุภิญโญ กรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายนพ ธรรมวานิช กรรมการสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์ กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) อาจารย์คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนางสาวภาพเพรง เลี้ยงสุขProgram Director บริษัท เทคซอส มีเดีย จํากัด
- บรรยายในหัวข้อ AI กับ Data-driven เตรียมพร้อมทุกการแข่งขัน โดยนายพงษ์ปิติ ผาสุขยืด ผู้ก่อตั้ง Ad Addict
- บรรยายในหัวข้อ AI ผู้ช่วยบริหารกับการจัดการมืออาชีพ” โดยนายโชค วิศวโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จํากัด
- บรรยายหัวข้อ ใช้ AI Tools ทางเลือกใหม่ในงาน Pre-Production โดยผศ.ดร.กิตติพงษ์ สุวรรณราช ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
- บรรยายหัวข้อ “ศาสตร์ & ศิลป์ การสร้างภาพจาก AI” โดยนายเมธากวี สีตบุตร Prompt Engineer ผู้สร้างสรรค์ผลงานจาก AI
- บรรยายหัวข้อ “เล่าเรื่องด้วย Generative AI” โดยคุณกุลพงษ์ ไวยามัจมัยกุล Virtual Art Director และคุณกฤษฏิ์พิชญ์ นิพิษฐานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท กันตนา โพสต์ โปรดักชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด
- บรรยายหัวข้อ “จริยธรรมในการใช้ AI” โดยผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อุปนายก สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เสวนาหัวข้อ “Generative AI ใช้อย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์” โดยผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อุปนายก สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตัวแทนกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ นายอัศวิน อัศวพิทยานนท์ Senior Graphic Designer บริษัท ดาต้าเอ็กซ์ จำกัด
ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงานเสวนา “Bridging Humanity and AI” จะเป็นอย่างไร เมื่อปัญญามนุษย์และ ปัญญา ประดิษฐ์ร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มบุคลากรในวงการสื่อไม่ว่าจะเกี่ยวข้องทางใด ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่นสื่อมวลชน, สื่อออนไลน์, คอนเทนครีเอเตอร์ หรือผู้ผลิตสื่อ ทั้งในส่วนของ Pre-production ,Production และ Post-Production และอื่น ๆ ทั้งนี้ คาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ จะได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI และเห็นถึงมุมมองต่าง ๆ ได้รู้จัก พร้อมทดลองใช้ Tools และสามารถเลือก ลักษณะ AI ที่สอดคล้องกับการทำงาน นำมาปรับใช้เพื่อช่วยในการผลิตสื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
สำหรับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีพันธกิจสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วนในการผลิต พัฒนาเนื้อหา และส่งเสริมผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการ เรียนรู้ อีกทั้ง พัฒนาองค์ความรู้ด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัย และทักษะการรู้ เท่าทันสื่อแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป อีกทั้งพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง
เพื่อการขับเคลื่อนภารกิจด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมการผลิต, ส่งเสริมการวิจัย, เสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ, ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างมูลค่าเพิ่มของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ในการจัด ร่วมงานเสวนา “Bridging Humanity and AI” นับเป็นอีกกิจกรรมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ของ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับผู้สนใจ กิจกรรม หรือ ข้อมูลรายละเอียด สามารถติดตามได้ที่ Website : www.thaimediafund.or.th FACEBOOK : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์