Work Trend Index 2024 ชี้ AI ปฏิวัติการทำงานของคนไทย

ไมโครซอฟท์

The Reporter Asia – การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นในตลาดแรงงานไทย เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานมากขึ้น ผลการศึกษา Work Trend Index 2024 โดย ไมโครซอฟท์ และ LinkedIn เผยให้เห็นว่าคนทำงานไทยกว่า 92% ได้นำ AI มาใช้ในงานแล้ว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75%

AI ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือ ‘ชีวิตจริง’

คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน…จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเร่งตอบสนองต่อปรากฎการณ์นี้”

การศึกษาพบว่าพนักงานไทยนำ AI ส่วนตัวมาใช้ (BYOAI) ถึง 81% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาทำงาน และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร 91% มองว่า AI จำเป็นต่อการแข่งขันของธุรกิจ แต่ 64% ยังกังวลเรื่องแผนการใช้ AI ในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการวัดผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ AI

ขณะที่แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงานนี้ อาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ดังนั้น AI จึงเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น

ทางด้านผู้บริหาร พบว่า 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อยที่ 60% นอกจากนี้ ผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ผู้บริหารและองค์กรยังต้องก้าวผ่านไปให้ได้

คุณธนวัฒน์ ได้กล่าวกับ TheReporterAsia ว่า “ปัจจัยด้านภาษาไทย ยังเป็นความซับซ้อนของวัฒนธรรมการพูดภาษาไทยผสมภาษาอังกฤษที่ทำให้เอไอเกิดความสับสน แต่เราได้ตั้งทีมเพื่อพัฒนาภาษาไทยใน AI สำหรับ 365 ให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น”

และยังพบว่ากลุ่ม “Power Users” หรือผู้ใช้ AI ระดับสูงในไทย สามารถลดเวลาทำงานได้ถึง 30 นาทีต่อวัน หรือ 10 ชั่วโมงต่อเดือน! พวกเขาเริ่มและจบวันด้วย AI ถึง 86% แต่มีเพียง 28% ที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ AI จากองค์กร และ 22% ที่ได้รับการฝึกอบรม

นอกจากนี้ โครงสร้างในการสนับสนุนการใช้งาน AI ในองค์กรไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40% ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%

ทักษะ AI: สิ่งจำเป็นในตลาดแรงงานยุคใหม่

ทักษะ AI กลายเป็นสิ่งที่นายจ้างมองหา ผู้บริหารไทย 74% ไม่ต้องการจ้างคนไม่มีทักษะ AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66 และ 90% เลือกผู้สมัครมีทักษะ AI มากกว่าประสบการณ์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71% อีกทั้งความต้องการแรงงานด้าน AI ก็เพิ่มขึ้นถึง 17% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสายงานสร้างสรรค์ เช่น นักเขียนคอนเทนต์ นักออกแบบกราฟิก และผู้จัดการฝ่ายการตลาด

คุณธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่า “เราต้องเริ่มที่จะนำ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน…องค์กรจึงควรที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อคอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานของพนักงาน”

ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด

ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน ยังเผยอีกว่าทักษะด้าน AI ในไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่ความสนใจในการพัฒนาทักษะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลักสูตร AI บน LinkedIn Learning ได้รับความนิยมสูงสุด

  • ข้อมูลจากช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่า จำนวนของสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่างChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่าตัว
  • ในช่วง 2 ที่ผ่านมา พบว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทาง LinkedIn หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI ด้วย จะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%
  • ในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟฟิกดีไซน์ และการตลาด

Copilot: อาวุธลับของ Microsoft

ไมโครซอฟท์เปิดตัวคุณสมบัติใหม่ใน Copilot for Microsoft 365 เพื่อช่วยให้การใช้ AI ในที่ทำงานง่ายขึ้น เช่น ระบบโต้ตอบ แนะนำคำสั่ง และช่วยเขียนคำสั่ง

  • Copilot จะโต้ตอบกับผู้ใช้งานมากขึ้น โดยระบบจะแนะนำชุดคำสั่งถัดไปหรือถามคำถามเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถตอบสนองคำสั่งของผู้ใช้งานและสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด
  • หน้าจอแชทแบบใหม่ของ Copilot จะเสนอคำแนะนำตามสถานการณ์ปัจจุบันหรือกิจกรรมล่าสุดของผู้ใช้งาน เช่น อาจมีข้อความแจ้งเตือนว่า “คุณพลาดการประชุมของทีมฝ่ายขายเมื่อวันอังคารนะ อ่านสรุปการประชุมนี้ได้ที่นี่” รวมถึงคัดเลือกอีเมลที่สำคัญมาให้ผู้ใช้งานติดตามอ่าน
  • ช่องพิมพ์คำสั่งของ Copilot จะมีระบบเติมคำอัตโนมัติ (auto complete) เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมในการป้อนคำสั่ง นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์สำหรับช่วยเขียนคำสั่งที่พร้อมขยายคำสั่งพื้นฐานทั่วไปให้สมบูรณ์และมีรายละเอียดมากขึ้น โดยเขียนขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลจากการประชุม เอกสาร และอีเมลของผู้ใช้แต่ละคน
  • อัปเดตใหม่สำหรับ Copilot Lab เปิดให้พนักงานสามารถเขียน แชร์ และจัดการกับคำสั่งสำเร็จรูปที่เขียนขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะทางของแต่ละทีม

ขณะเดียวกัน LinkedIn ก็นำเสนอคอร์สอบรมเกี่ยวกับ AI กว่า 600 รายการ เพื่อให้คนทำงานสามารถก้าวต่อไปบนเส้นทางในสายอาชีพได้อย่างมั่นใจ โดยล่าสุดได้เปิดให้ผู้ใช้ LinkedIn ทุกคนสามารถร่วมเรียนรู้จากคอร์สเกี่ยวกับ AI จำนวน 50 หลักสูตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นับตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

  • นอกจากนี้ LinkedIn ยังมีบริการแนะนำหลักสูตรด้วย AI ที่สามารถคัดเลือกและนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจและสายงานของผู้ใช้แต่ละคน พร้อมด้วยการเรียนรู้ผ่านบทสนทนากับ AI
  • สำหรับผู้ใช้งาน LinkedIn Premium ยังมีฟีเจอร์ AI สรุปใจความสำคัญใน LinkedIn Feed ที่ช่วยเผยข้อมูล แนะนำไอเดียใหม่ๆ และกิจกรรมที่น่าสนใจ
  • เครื่องมือ AI ของ LinkedIn ช่วยให้คุณสามารถประเมินความเหมาะสมของตนเองเมื่อเทียบกับตำแหน่งงานได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยอ้างอิงจากข้อมูลประสบการณ์และทักษะของคุณ นอกจากนี้ คุณยังสามารถขอคำแนะนำในการเขียนโปรไฟล์ให้โดดเด่น และช่องทางในการพัฒนาทักษะที่สำคัญอีกด้วย

ทั้งนี้ AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอนาคตของการทำงานในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว องค์กรและพนักงานต้องปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะ AI ให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

#AI #การทำงาน #อนาคต #การจ้างงาน #ทักษะ #Upskill #ไมโครซอฟท์ #LinkedIn #Copilot #TheReporterAsia

banner Sample

Related Posts