แอสตร้าเซนเนก้า จับมือ จุฬาฯ พัฒนา NGS ตรวจหายีนส์กลายพันธุ์

แอสตร้าเซนเนก้า จับมือ จุฬาฯ พัฒนา NGS ตรวจหายีนส์กลายพันธุ์

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – แอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลัง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) ยกระดับการตรวจหายีนส์กลายพันธุ์ เพิ่มโอกาสเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคหายากให้กับผู้ป่วยไทยกว่า 3.5 ล้านคน

แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการหาลำดับเบสของดีเอ็นเอยุคใหม่ (Next Generation Sequencing: NGS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง ช่วยในการตรวจหายีนกลายพันธุ์ในกลุ่มโรคหายาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการตรวจหายีนความเสี่ยงทางพันธุกรรม และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาโรคหายากให้กับผู้ป่วยชาวไทย

นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ Frontier Markets กล่าวว่า “ความร่วมมือกันในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับนวัตกรรมและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคหายากในประเทศไทย โดยสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการตรวจหายีนความเสี่ยงทางพันธุกรรมในกลุ่มโรคหายาก เนื่องจากการวินิจฉัยโรคหายากโดยแพทย์ทั่วไปนั้นยังคงประสบปัญหาจากความซับซ้อนของอาการที่ปรากฏ และในประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ดังนั้นการยกระดับเทคโนโลยีNGS จะช่วยทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพันธุกรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถาบันชั้นแนวหน้าในประเทศไทยที่มีเทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติของยีนแบบNGS เพื่อให้การวินิจฉัยโรคหายากในระดับโมเลกุล ในส่วนการรักษาโรคหายากในปัจจุบันยังคงเป็นการรักษาที่ปลายเหตุเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งยังต้องรอให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคก่อน จึงทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยขึ้นในปัจจุบัน

“เราคาดหวังว่าจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของยีนได้อย่างรวดเร็วและตรวจได้ก่อนมีอาการ อันจะนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดอาการ นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การค้นพบยีนก่อโรคและกลไกการเกิดโรคใหม่ ซึ่งจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางพันธุกรรมได้ในอนาคต รวมถึงพัฒนาแนวทางการรักษาให้ลงลึกได้ถึงระดับยีนต้นเหตุ”

แม้โรคหายากแต่ละโรคจะมีอุบัติการณ์น้อย แต่เนื่องจากมีจำนวนโรคหายากมากกว่า 7,000 โรค ทำให้อุบัติการณ์โดยรวมของการเกิดโรคหายากในประชากรสูงถึงร้อยละ 5 โรคหายากยังสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์มักจะทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคอง การตรวจหาความผิดปกติของยีนเพื่อคัดกรองโรคหายากผ่านเทคโนโลยีNGS จึงเป็นความหวังใหม่แก่ผู้ป่วยในการวินิจฉัยตั้งแต่ก่อนมีอาการหรือระยะแรก ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันการเกิดโรค หรือการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ความร่วมมือระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหายากในประเทศไทย สอดคล้องกับพันธกิจของแอสตร้าเซนเนก้าในการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ร่วมกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ

#แอสตร้าเซนเนก้า #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #NGS #โรคหายาก #นวัตกรรมการแพทย์

Related Posts