SMC เผยผลสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ไทย ปี 2567

SMC เผยผลสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ไทย ปี 2567

ระยอง, ประเทศไทย – ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) หน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมเปิดบ้านศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC Open House 2024) ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Digital Transformation)” ณ สำนักงานใหญ่ EECi จังหวัดระยอง

ภายในงาน SMC ได้รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนงานที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 และรายงานผลการสำรวจความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของไทยปี 2567 ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะกลุ่มพลาสติกและเคมีภัณฑ์ กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และกลุ่มเหล็กและอลูมิเนียม

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของ SMC คือ การผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมและพัฒนาให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานได้อย่างยั่งยืน” 

“การดำเนินงานในปี 2567 SMCสนับสนุนการยกระดับการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี ARI (Automation Robotic and Intelligent System) รวม 131 โรงงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 3,636 ล้านบาท ผ่านบริการด้านต่าง ๆ ของ SMC” ดร.พนิตา กล่าวเสริม

SMC

ทั้งนี้ SMC มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ให้คำปรึกษาและช่วยขอรับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ BOI คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1,036 ล้านบาท
  • ประเมินความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวทาง Thailand i4.0 Index ทั้งแบบ Full Assess และ Self Assess รวมกว่า 400 โรงงาน
  • พัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรในภาคการผลิตผ่านโครงการSMC Academy 1,138 ราย จาก 35 บริษัท ใน 14 หลักสูตรด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
  • สนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในโรงงาน โดยเปิดให้บริการเครื่องมือช่วยพัฒนา Edge IoT และ Machine Learning โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม ผ่าน 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ “Daysie” และ “NoMadML”
  • สนับสนุนความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก SMCให้บริการศูนย์ทดสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแห่งเดียวในประเทศที่สามารถทดสอบมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดสูงสุด 380 kW ได้ตามมาตรฐานนานาชาติ

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานโครงการ IDA Platform ในปี พ.ศ. 2565 – 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 132 ล้านบาท และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 19 ล้านบาท โดยยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม เช่น กรณีของบริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด ซึ่งได้เชื่อมต่อข้อมูลเข้าสู่ IDA Platform พร้อมทั้งปรับแต่ง Dashboard ให้สามารถแสดงข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานได้อย่างครบถ้วน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 18,850 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 226,200 บาทต่อปี

ด้านผลการสำรวจระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทยประจำปี 2567 ด้วยดัชนีชี้วัด Thailand i4.0 Index โดยสำรวจบริษัทในภาคการผลิตจำนวน 350 บริษัท ใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า

SMC

โดยค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1 ถึง 6 ซึ่งเทียบเคียงได้กับระดับอุตสาหกรรม 1.0 ถึง อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ Industry 4.0

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การผลักดันให้ Thailand i4.0 Index เกิดการขยายผลในระดับชาติ โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นชอบให้นำเข้า ครม. เพื่อเห็นชอบให้ Thailand i4.0 Index เป็นมาตรฐานในการยกระดับความพร้อมอุตสาหกรรมของไทย

SMC

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมโดยใช้ผลการประเมิน Thailand i4.0 Index เป็นเกณฑ์การพิจารณา ผู้ประกอบการสามารถนำเงินลงทุน 100% ไปหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี และกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นเงื่อนไขในการขอรับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 โดยให้ผู้ประกอบการประเมินอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยตัวเองผ่านระบบ Thailand i4.0 CheckUp

สำหรับก้าวต่อไปของSMC ในปี 2568 SMCมีเป้าหมายสำคัญในการต่อยอดผลการประเมินพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัด Thailand i4.0 Index เพื่อการพัฒนาไปสู่ แผนการและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างเป็นระบบ ได้แก่

  • การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (DX Roadmap) SMCจะใช้ข้อมูลการประเมินพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัด Thailand i4.0 Index มาเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการออกแบบแผนในการทำ Digital Transformation สู่อุตสาหกรรรม 4.0 อย่างเป็นขั้นตอน
  • การนำแผนไปปฏิบัติจริง (Implementation) มุ่งเน้นสนับสนุนการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงงาน เช่น IoT, AI, และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน
  • การพัฒนาศักยภาพบุคลากร มุ่งพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมผ่านSMC Academy
  • การสนับสนุนแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืน แผนงาน DX Roadmap & Implementation จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

#SMC #Industry4.0 #DigitalTransformation #ความยั่งยืน #อุตสาหกรรมไทย #เศรษฐกิจดิจิทัล #นวัตกรรม

Related Posts