
กลุ่มทรู จับมือโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ผุดต้นแบบ ER New Normal ดึงประสิทธิภาพ True 5G สร้างการสื่อสารสู่แพลตฟอร์มการแพทย์ฉุกเฉิน เชื่อมโยงรถพยาบาลฉุกเฉินเข้าสู่แพลตฟอร์มการสื่อสารส่วนกลาง เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ชู 4 เทคโนโลยีหลักยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินเป็นแบบอย่างแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศต่อไป
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่มีช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลด่านหน้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องของการสื่อสารกันผ่านแว่นตาอัจฉริยะที่หมอส่วนกลาง สามารถมองเห็นอาการผู้ป่วย เสมือนการอยู่ในที่เกิดเหตุ ช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ขณะที่การผสานแพลตฟอร์มการสื่อสารที่สามารถช่วยคัดกรองการรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยได้ ช่วยให้ศักยภาพของโรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะกลายเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกต่อไปในอนาคต และยังรวมถึงการสร้างรูปแบบการรักษาที่นำเทคโนโลยีเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของโรงพยาบาล เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงต่อไปในอนาคต
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลของเรามีพื้นที่โดยรอบที่ครอบคลุมประชากรกว่า 2 ล้านคน ซึ่งแต่ละปีจะมีคนเข้ามารักษาราว 8 แสนคน ทำให้ในแต่ละวันมีผู้ป่วยเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่การเดินทางค่อนข้างติดขัด ทำให้ผู้ป่วยเดินทางเข้ามาได้ลำบาก รวมไปถึงการขนส่งผู้ป่วยของรถพยาบาลหรือรถฉุกเฉินอีกด้วย
การนำความสามารถของเทคโนโลยี True 5G เข้ามาช่วยเพื่อให้รถพยาบาลสามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกับหมอส่วนกลาง ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในรถฉุกเฉินจะไม่มีแพทย์อยู่ในรถก็สามารถสั่งการและทำการรักษาได้ทันที
ที่ผ่านมาเทคโนโลยี 3G หรือ 4G ยังมีการติดขัด ทำได้เพียงแค่ต้นแบบในการสร้างแนวคิดเท่านั้น แต่วันนี้เทคโนโลยี 5G ช่วยให้การทำงานสื่อสารทางการแพทย์เพื่อกลับมาโรงพยาบาลสามารถใช้งานได้จริง เนื่องจากการสื่อสารทางการแพทย์นั้นต้องการความละเอียดของวิดีโอที่ส่งมาสูง เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์ผู้ป่วยจากรูปที่เห็น
ซึ่งเราก็คาดหวังว่าเบื้องต้นของการนำเทคโนโลยีเข้าเข้ามาใช้ แพลตฟอร์ม จะสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์ม Vhealth ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถสื่อสารกับโรงพยาบาล เพื่อบอกเล่าอาการเบื้องต้นและรับคำแนะนำในการักษา หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามาในโรงพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชั่น Nopparat Teleclinic Powered by True 5G ทำให้เกิดการรักษาที่ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ได้มากขึ้น
นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและและกรรมการยุทธศาสตร์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า วันนี้การนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาช่วยเรื่องการรักษา นับว่าเป็นครั้งแรกของภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่นับรวมเกาหลีและญี่ปุ่นที่เริ่มมีการทำการรักษาผ่าน 5G มาแล้วก่อนหน้า ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้การร่วมมือกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เนื่องจากความเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่เป็นโรงพยาบาลให้ของชานเมือง ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก จึงนับเป็นตัวอย่างของการสร้างต้นแบบที่ดีให้กับการนำไปใช้ใน โรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
เราได้นำ 4 โซลูชั่นเข้าสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ โดยนับตั้งแต่ 1.True 5G MedTech Ambulance ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงอุปกรณ์ภายในรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อไปยังส่วนกลางผ่านเครือข่าย True 5G ได้อย่างเรียลไทม์ 2. AR Professional Consult Powered by True 5G ระบบการเชื่อมต่อการสื่อสารเสมือนจริง ผ่านแว่นตาอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้แพทย์จากส่วนกลาง สามารถให้คำปรึกษาในการรักษาทางไกลให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
ขณะที่ 3. True 5G Temi Connect & CareBot จะเป็นหุ่นยนต์สื่อสารอัจฉริยะ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้ผ่านหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล สามารถทำการรักษาที่ต้องเว้นระยะห่างในยามที่เกิดโรคระบาดเช่นไวรัสโคโรน่าโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี 4. Vhealth Platform ที่ช่วยทำให้ระบบ Nopparat Teleclinic Powered by True 5G สามารถเชื่อมต่อการรักษาเข้ากับผู้ป่วยหรือประชากรโดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดกรองผู้ป่วยก่อนเดินทางเข้ามาสู่โรงพยาบาล เพื่อลดความหนาแน่นและทำการรักษาเบื้องต้นจากนอกโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ในการใช้งานทางการแพทย์นั้น 5G จะช่วยตอบสนอง เรื่องของความหน่วงต่ำ ซึ่งเมื่อเป็นกรณีที่หมอต้องการผ่าตัดทางไกล มีดที่แพทย์ทำการผ่าตัดจะต้องตอบสนองต่อคำสั่งได้อย่างทันที ทำให้การผ่าตัดทางไกล สามารถใช้งานได้จริง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องการกาสื่อสารแบบเรียลไทม์
และแม้ว่า 5G จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ความร่วมมือเพื่อการทดลองทำงานในครั้งนี้ยังจะต้องการพัฒนาต่อไปอีกหลายอย่าง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นต้นแบบของการพัฒนาและทดลองการทำงานการแพทย์เทคโนโลยีที่ร่วมกับทรู ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงบริการร่วมกัน