ชาว Social Media เป็นกลุ่มหลักที่ตกอยู่ในความเสี่ยงของการบังคับใช้กฏหมาย พรบ.คอมพ์ ฉบับล่าสุดเป็นอย่างมาก ด้วยพื้นฐานทางเทคโนโลยี กอปรกับสภาพการณ์ใช้งานที่ไม่ได้หวังผลทางการค้า แต่มีการใช้แพร่หลายเพื่อการสื่อสารเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่สามารถอ้างต่อชั้นศาลได้แต่อย่างใด
การเรียนรู้ขั้นตอน เพื่ออยู่กับโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย แบบไม่ตระหนก และหวาดกลัว จนกลายเป็นเหยื่อของผู้หาผลประโยชน์ วันนี้ พลาย อะตอม เลยถือโอกาสแนะนำวิธีทำตัวให้ปลอดภัยแบบไม่โดนฟ้องและโดนจับ หลังจากได้อ่าน พรบ.คอมพ์มาแล้วบ้างซะเลย
ชาว Social ต้องทำอย่างไรให้โพสต์ ไม่ผิด พรบ.คอมพ์
1. ห้ามแชร์มั่ว อ่านและทำความเข้าใจก่อนว่าเนื้อหานั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ใครบอกให้แชร์ก็แชร์ไป ใครบอกให้กดถูกใจก็ใส่เต็มที่ แล้วจะปลอดภัยในเบื้องต้น
2. ห้ามส่งต่อเรื่องล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ์ กล่าวโทษ ให้ร้ายผู้อื่น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะจริงหรือเท็จ เพราะเชื่อว่าการเช็กข่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ตามอ่านอย่างเดียวก็พอไม่ต้องเผยแพร่
3.อย่าคิดว่ากลุ่มปิดแล้วจะรอด ชาวโซเชียล ต้องไม่ประมาท หรือคิดว่าคุยในกลุ่มปิดจะไม่เป็นไร บางทีเราหรือเพื่อนในกลุ่มเอาเครื่องไปซ่อม แล้วข้อมูลของกลุ่มรั่วไหล คุณหรือทั้งกลุ่มก็อาจจะซวยได้เหมือนกันนะ
4.ภาพศพ หรือเด็ก ห้ามยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะกดถูกใจ ส่งต่อ หรือแม้กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ เพราะนั่นหมายถึงการมีส่วมร่วมในการหมิ่นประมาทผู้ตายและเด็ก ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าก็เบลอภาพแล้วไงจะอะไรอีก บอกเลยว่าการเบลอเป็นการตกแต่งภาพเท่านั้น ไม่ได้ทำให้โครงสร้างหลักในความหมายของภาพเปลี่ยนไป
5. F5 รัวๆเพื่อจงใจทำให้เว็บเป้าหมายทำงานยากขึ้นหรือช้าลง นับเป็นเรื่องต้องห้ามของการให้ความร่วมมือที่มีการร้องขอบ่อยครั้งในโลกออนไลน์ แน่นอนว่าคุณจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่ออาชญากรรมครั้งนั้น
6. อย่าปล่อยให้คอมเมนต์ไม่ดี อยู่ในโพสต์ของเรา อันนี้ฟังดูแล้วอาจจะยากสักหน่อยสำหรับคนที่มีผู้ติดตามหลักหมื่นหลักแสน แล้วจะให้ตามไปลบเมนต์ทันได้อย่างไร แต่ยังไงก็ต้องหาทางตรวจสอบให้ได้ เพราะนั่นอาจจะเป็นสาเหตุให้เรากลายเป็นผู้กระทำความผิด ฐานที่เมินเฉยต่อสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อศีลธรรมอันดี หรือถึงขึ้นเป็นผู้เผยแพร่เลยที่เดียว
7. หยุดเขียนความเห็นที่ไม่เหมาะสมออกโลกออนไลน์ เพราะนั่นไม่ใช่ที่ส่วนตัวให้คุณได้ระบายออกทางการเมือง หรือแม้กระทั่งกร่นด่าผู้อื่นผู้ใดอีกต่อไป ท้ายที่สุดเนื้อหานั้นจะยังคงอยู่อีกไม่น้อยกว่า 90วัน หลังจากคุณลบมันไปแล้วก็ตาม
ที่เหลือจากเนื้อหาของ พรบ.คอมพ์ ฉบับนี้ก็น่าจะเป็นส่วนของมืออาชีพที่จะทำได้ ซึ่งเกินความสามารถของชาวโซเชียลธรรมดานะครับ โดยยกตัวอย่างเช่น
การปลอมแปลม หรือแก้ไขรูปภาพ วิดีโอ เพื่อจงใจให้เกิดความสับสน จนนำไปสู่การเกิดข้อพิพาทส่วนบุคคล ไปจนถึงเรื่องความมั่นคงของชาติ
การเจาะระบบโครงสร้างหลักของประเทศ เพื่อเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย ต่อระบบสาธารณะ หรือระบบส่วนรวม
การส่งอีเมล์รบกวน โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้บอกเลิกบริการได้โดยง่าย หรือไม่แน่ใจว่าพวกโพสต์ฝากร้าน อันนี้จะโดนด้วยมั้ย ก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดด้วยเช่นกัน เพราะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้เกิดขึ้นกับผู้อื่น
หรือแม้กระทั่ง การสร้างชุดคำสั่ง (โปรแกรม) เพื่อเจตนาทำลายระบบ ของผู้ใดผู้หนึ่ง นับเป็นเรื่องของอาชญากรรมขั้นสูงทั้งสิ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ผมคงไม่ต้องแนะนำอะไร เพราะเค้าคงรู้อยู่แล้วว่ากำลังกระทำความผิด
จริงๆแล้วยังมีอีกหลายข้อปฏิบัติที่อยากเขียน แต่เดี๋ยวจะหาว่ายากเกินไปแล้วถอดใจเลิกใช้โซเชียล กันซะหมด เอาเป็นว่าทำได้เท่านี้ก็น่าจะรอดพ้นต่อการตกเป็นเครื่องมือหรือผู้ต้องหา พรบ.คอมพ์ ฉบับใหม่นี้ได้พอสมควร และที่สำคัญ ‘สติ’ จะทำให้ชีวิตปลอดภัยที่สุด