กระทรวงดิจิทัลฯ แจง พ.ร.บ.คอมฯใหม่ ไม่จำกัดสิทธิ ยึดกติกาสากล

ดิจิทัล

กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงการกดไลค์ กดแชร์ หรือโพสต์ ยังไม่ถือเป็นความผิดในทันที ต้องตรวจสอบเป็นรายกรณีไป

ย้ำเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ไม่เกี่ยวคดีหมิ่นประมาท มุ่งใช้กับการหลอกลวง การฉ้อโกง การปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัด กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จำกัดการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

หลังมีกรณี ส.ต.อ.จักรพงษ์ วงษ์วิจิตร กดไลค์เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทนายตำรวจระดับสูงรายหนึ่ง แล้วถูกตำรวจส่งหมายเชิญเข้าเป็นพยานในคดีหมิ่นประมาทดังกล่าว

กระทรวงดิจิทัล ฯ ขอชี้แจงว่า กรณีการกดถูกใจ (Like) ข้อความที่มีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาทในเฟซบุ๊ก แล้วถูกหมายเรียกมาเป็นพยานในคดีนั้น

ไม่มีมาตราใดระบุว่า การนำข้อมูลที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจเพื่อเรียกและรวบรวมพยานหลักฐานตามปกติของพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการไปตาม  รูปคดี

ทั้งนี้ การแสดงความรู้สึกผ่านโซเชียลมีเดียโดยการกดถูกใจ (Like) หรือกดส่งต่อ (Share)หรือการโพสต์ (Post) ตามกฎหมายถือเป็นการกระทำเกิดขึ้นแล้ว ส่วนจะมีเจตนาอย่างไร และผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

ดังนั้น ก่อนกดไลค์ (Like) หรือกดส่งต่อ (Share) จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวจะกระทบกระเทือนสิทธิของผู้อี่น หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่

สำหรับกรณีที่มีการวิจารณ์ว่ากรณีดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความรู้สึก และมีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ไปหลายคดีแล้วนั้น

กระทรวงดิจิทัลฯ ขอย้ำว่า หลักการพื้นฐานของการใช้สิทธิและเสรีภาพ จะต้องไม่ไปกระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่น หรือฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล และหลักแห่งรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมามักมีการพยายามตีความ โดยนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ไปใช้ฟ้องร้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ที่มุ่งใช้กับการหลอกลวง การฉ้อโกง การปลอมแปลงทางคอมพิวเตอร์ หรือการแสดงตัวเป็นบุคคลอื่น เช่น การปลอมเฟซบุ๊ก หรือ การสร้างเว็บไซต์ปลอมต่างๆ

ดังนั้น ในมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อไม่ให้นำไปฟ้องร้องกันในความผิดฐานหมิ่นประมาทอีกต่อไป

โดยจะมีผลทำให้คดีหมิ่นประมาทต่างๆ หายไป และส่งผลดีต่อประชาชนโดยรวม น.อ.สมศักดิ์ฯ กล่าว

Related Posts