___noise___ 1000

ดีอีเตือน!! อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพอ้างกระทรวงฯ เรียกเงินปิดคดี ก.คอมพิวเตอร์

มิจฉาชีพ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ มิจฉาชีพ ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เรียกเงินปิดคดี หลังเกิดกรณีมีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ โทรศัพท์ข่มขู่เยาวชนว่ากระทำการเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เรียกเงินแลกอิสรภาพ ชี้เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือดำเนินคดีใดๆ ย้ำหากพบเจอเหตุการณ์หรือมีเบาะแสลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึง กรณีการนำเสนอข่าว ที่มีผู้ปกครองเยาวชนชายอายุ 17 ปี ในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยระบุว่า บุตรชายของตนได้มีการถอดเสื้อคุยกับเพื่อนสาว ผ่านทางสื่อออนไลน์ ต่อมาถูกบุคคลที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลฯ โทรศัพท์เข้ามาหาและบอกว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ

โดยการเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งพูดจาข่มขู่ ทำให้บุตรชายหวาดกลัว และยังบอกว่าหากไม่ต้องการถูกดำเนินคดี ให้โอนเงินจำนวน 20,000 บาท ผ่านทางตู้ ATM แต่บุตรชายไม่มีเงิน จึงได้นำเรื่องมาเล่าให้ฟัง เมื่อตนทราบเรื่องจึงได้ให้บุตรชาย ติดต่อกับชายคนดังกล่าวผ่านทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้แสดงตัวตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง แต่กลับไม่สามารถแสดงตัวตนได้ จึงเชื่อว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่มาหลอกลวงเยาวชนแน่นอน

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯ ขอชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ โดยการดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าวของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดบทบาทหน้าที่ไว้ดังนี้

1) การจับกุม เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง

2) การสืบสวน สอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ต้องร่วมกับพนักงานสอบสวนในการดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ต้องสนับสนุน ในการหาพยานหลักฐานข้อมูลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์เพื่อประกอบสำนวน

3) เมื่อทำสำนวนเสร็จ พนักงานสอบสวนจึงส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อไป

กล่าวคือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะทำหน้าที่คล้ายกับนิติวิทยาศาสตร์ในการรวบรวมและพิสูจน์หลักฐาน ส่วนการดำเนินการจับกุม ควบคุมและตรวจค้น เป็นการดำเนินการของตำรวจ สำหรับการปิดกั้นและระงับการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการฯ ต้องยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับ หลังจากได้คำสั่งศาลมาแล้ว จึงสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ทำการระงับการเข้าถึงเนื้อหา และส่งพยานหลักฐานให้ตำรวจไปติดตามหาผู้กระทำความผิดต่อไป

“กระทรวงดิจิทัลฯ จึงขอเตือนประชาชน หากมีผู้ที่แอบอ้างเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ ไปทำการจับกุม หรือเรียกร้องสิ่งต่างๆ อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด เนื่องจากกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่มีหน้าที่ในการจับกุมใดๆ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งหากประชาชนท่านใดประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว หรือมีเบาะแสน่าสงสัย สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC1111) โทร.สายด่วน 1111 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง เพื่อดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านั้นได้ทันที” น.อ.สมศักดิ์ฯ กล่าวย้ำ

banner Sample

Related Posts