สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพดึง JMAM ยกระดับช่างสู่สากล

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพดึง JMAM ยกระดับช่างสู่สากล

การพัฒนาบุคคลากรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศอาจจะยังไม่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นที่เพียงพอ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งมีหน้าที่ดำเนินภารกิจการพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ

จึงได้เข้าไปจับมือกับ JMAM องค์กรธุรกิจของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เข้ามาเป็นอีกแรงสำคัญในการช่วยพัฒนาบุคลากรในระดับช่างเทคนิคโรงงานไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

ความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือเพื่อประสานงานจาก JETRO หรือ The Japan External Trade Organization

ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น เพื่อขอนำ JMA Management Center Inc. (JMAM) เข้ามาหารือและแลกเปลี่ยน เรียนรู้ วิธีปฎิบัติที่ดีของ 2 หน่วยงาน

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวนี้จะเป็นการร่วมกันใน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ร่วมมือกันพัฒนาเรื่องการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และการประเมินและการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ 2.ดำเนินงานความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองหน่วยงาน

และ 3.ร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุน แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในเรื่องการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเมินและรองรับกับการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงได้

โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในสาขาช่างเทคนิคในโรงงานสู่สมรรถนะการบริหารจัดการและการจัดการเทคโนโลยี ที่ต้องตระหนักถึงคุณภาพ ค่าใช้จ่าย

ระยะเวลาส่งมอบงาน ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม มิใช่เพียงในโรงงานของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะสามารถนำไปใช้กับทุกโรงงานที่มีความต้องการในการพัฒนาบุคลากรของตน

“ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ร่วมกับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ จัดทำมาตรฐานอาชีพ ไปแล้วจำนวน 55 สาขาวิชาชีพ ทั้งหมดเป็นมาตรฐานอาชีพที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในเรื่องของ First S Curve, New S Curve และใน Cluster อื่นๆ

รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสมรรถนะที่เกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในด้านมาตรฐานความสามารถภาษาอังกฤษและสังคมดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะรองรับการนโยบาย Digital Economy และ AEC”

นายพิสิฐ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ และนำไปสู่การสร้าง Competitive Workforce สถาบันฯ ได้แสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล

ซึ่งความร่วมมือกับ JMAM นี้จะใช้การจัดการทางวิทยาศาสตร์ในการออกแบบเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดึงสมรรถนะของบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ

อาทิเช่น การศึกษาทางไกล (Correspondence courses), การเรียนรู้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning Library), การฝึกอบรมแบบกลุ่ม (Group training) และ การประเมินสมรรถนะ (Assessments)

ปัจจุบันสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม First S New S Curve รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์เป้าหมายตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มมาตรฐานอาชีพที่เป็นความต้องการในตลาด

อาทิ โลจิสติกส์ บริการยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ ICT ระบบราง ซ่อมอากาศยาน อุตสาหกรรมพลาสติก อาชีพความปลอดภัยในการทำงาน ปิโตรเลียมปิโตรเคมี หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ครูฝึกในสถานประกอบการ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้เริ่มพัฒนาโครงการ e-Training เข้าไปในระบบฐานข้อมูลของสถาบัน โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ใน 87 สาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย สาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ โลจิสติกส์ ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการนำเที่ยว (มัคคุเทศก์) อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ

ธุรกิจการบิน ICT และแมคคาทรอนิกส์ ซึ่งความร่วมมือกับ JMAM ดังกล่าวจะช่วยเติมเต็ในส่วนของ กำลังคนที่มีสมรรถนะที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านกำลังคน

ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมไปถึงการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

ด้านนายทาเคชิ ฮาเซกาวา ประธานกรรมการ JMA Management Center Inc. (JMAM) กล่าวว่า JMAM เป็นองค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมการจัดการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ผ่านนวัตกรรมการวิจัยและการศึกษาการจัดการ

โดยใช้การจัดการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดึงสมรรถนะของบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อทำให้การพัฒนาบุคลากรโรงงานให้มีสมรรถนะด้านการบริหารจัดการ

ประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มประสิทธิผลด้วยการพัฒนาในแนวทางยกระดับสมรรถนะของบุคลากรผ่านกระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจในสายการปฏิบัติงาน ซึ่งในความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรของประเทศไทย และสามารถยกระดับมาตรฐานอาชีพสู่สากลได้

Related Posts