เปิดแผนงาน ดีป้า ปี 62 กับงบที่ได้รับเบื้องต้น 1,201 ล้านบาท

เปิดแผนงาน ดีป้า ปี 62 กับงบที่ได้รับเบื้องต้น 1,201 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2562 ดีป้า ได้รับการจัดสรรมูลค่า 1,201 ล้านบาท จากที่ยื่นขอไปทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท งบประมาณส่วนนี้ยังไม่นับรวมงบประมาณกลางปีที่จะได้เพิ่มจากการยื่นขอกระทรวงดีอี เพื่อจัดทำโครงการอื่นๆ อีก ซึ่งในจำนวนที่ได้รับมานี้อาจจะดูว่ามากกว่าปีที่ผ่านมาที่ได้เพียง 286 ล้านบาท

แต่หากจำแนกให้ดีแล้วในส่วนนี้จะนำไปใช้ในการสร้างสถาบันไอโอที เฟสแรก มูลค่า 400 ล้านบาท ใช้ในการเตรียมความพร้อมจัดงาน World Expo Dubai 2020 มูลค่า 600 ล้านบาท เหลือเป็นค่าใช้จ่ายประจำเพียง 201 ล้านบาท

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2562 ดีป้าจะมุ่งสานต่อแผนงานตามกลยุทธ์หลักระยะ 4 ปี (พ.ศ.2561-2564) อย่างต่อเนื่อง

โดยจะใช้เครื่องมือหลักผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลสำหรับภาครัฐและเอกชน หรือ depa Funds เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมของประเทศทั้ง 8 มาตรการ และมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัล

ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

วางเป้าหมายสู่การมีการรับรู้และความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ผ่านระบบที่สร้างขึ้น (Digital Platform) ถึงประชาชนและกลุ่มเป้าหมาย 400,000 ราย โดยให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาและเรียนรู้ด้านดิจิทัล (Coding) มากกว่า 100,000 คน รวมถึงการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลที่ผ่านการรับรองไม่น้อยกว่า 50,000 คน

พร้อมทั้งผลิตแรงงานคุณภาพเพิ่มขึ้นในด้านดิจิทัลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หลังผ่านการ upskill และต้องการสร้างผู้บริหารระดับสูง Digital CEO เพื่อเป็นผู้นำในด้านดิจิทัลในการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่าสตาร์ทอัพมีเยอะมาก แต่ขาดการเติบโต หรือในส่วนของเอสเอ็มอีที่มีประมาณ 2.9 ล้านรายพบว่ามีรายได้ลดลง ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแต่พวกเขาปรับตัวไม่ทัน รวมไปถึงทางด้านบุคลากรต่างๆ ยังมีการพัฒนาที่ไม่ดีพอ

ดีป้าจึงได้เตรียมของบประมาณกลางปี เพื่อทำโครงการตามพันธกิจของดีป้า เพิ่มเติม อีก 880 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณการพัฒนาบุคคลากร 200 ล้านบาท งบประมาณการพัฒนาสตาร์ทอัพ 200 ล้านบาท งบประมาณพัฒนาสมาร์ทซิตี้ 300 ล้านบาทและงบประมาณการพัฒนาด้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่ดิจิทัลของภาคส่วนการเกษตรอีก 180 ล้านบาท”

นายณัฐพล กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนของสมาร์ทซิตี้นั้น ดีป้าจะทำการพัฒนาเกณฑ์ภายใน 60 วัน และออกแบบโลโก้ ด้วยการจัดให้มีการประกวดเพื่อเลือกตราสัญลักษณ์ให้กับเมือง โดยจะมีหลักเกณฑ์การออกแบบเมืองที่ชัดเจน มีการออกแบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ open data

การแผนโซลูชันการบริหารจัดการเมือง ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาร่วมกัยเอกชนและประชาชน รวมไปถึงการวางแผนความมั่นคงและปลอดภัยทั้งในโลกความเป็นจริงและความปลอดภัยไซเบอร์

ทั้งนี้ดีป้าจะได้ทำการกำหนดมาตรฐานของจังหวัดสมาร์ท ซิตี้ ในแต่ละจังหวัดว่ามีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง หรือมากกว่า จาก 6 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย Smart Mobility, Smart energy and environment, Smart economy, Smart living, Smart people และ Smart Governance ในพื้นที่ 7 เป้าหมาย

ได้แก่ ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ระยอง และกรุงเทพฯ โดยจะเลือกให้ตรงกับความสามารถกับจังหวัดนั้นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน และการขอรับงบส่งเสริมจากบีโอไอ

ทั้งหมดนี้จะเป็นผลงานตามเป้าหมายที่ดีป้าวางไว้ในเบื้องต้น ส่วนจะมีโครงการอื่นนอกเหนือจากนี้แล้ว Thereporter.asia จะนำเสนออย่างต่อเนื่องต่อไป

Related Posts