องค์กรไทย 3 แห่งคว้ารางวัล eASIA Award 2019

องค์กรไทย 3 แห่งคว้ารางวัล eASIA Award 2019

eASIA Award

ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพจัดงานประกาศผลและมอบรางวัล eASIA Award 2019 เพื่อค้นหาและส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 20 ประเทศสมาชิก ที่นำมาตรฐานมาใช้ในทางปฏิบัติและมีความโดดเด่นด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นประโยชน์ กับประเทศไทย เพื่อผลักดันเป็นสุดยอดองค์กรต้นแบบด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ส่วนปีหน้ามาเลเซียจะเจ้าภาพการประชุมปี 2020

สำหรับในปีนี้ไทยคว้ามาได้ 3 รางวัล ประกอบด้วย ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trade Facilitation and e-Commerce) ประเภท Gold Award ได้แก่ โปรเจกต์ Thailand National Single Window implementation จาก Thai Customs Department ประเทศไทย

ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาคเอกชน (Digital Transformation (Private Sector)) ประเภท Silver Award ได้แก่ โปรเจกต์ e-Certificate for Sugar Exporters in Thailand จาก New Technology Information Co.,Ltd ประเทศไทย

ด้านการสร้างโอกาสทางดิจิทัล (Creating Inclusive Digital Opportunities) ประเภท Gold Award ได้แก่ โปรเจกต์ e-Tax Invoice Project จาก ETDA ประเทศไทย

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ETDA ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการด้านการค้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ AFACT (Asia Pacific Council for Trade Facilitation and Electronic Business) ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม AFACT Plenary ครั้งที่ 37 พร้อมจัดกิจกรรมประกวดและมอบรางวัล eASIA Award 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสามารถพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการนำเข้าส่งออกข้ามพรมแดนได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ในภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกันตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)

“การอำนวยความสะดวกทางการค้าให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพและตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลก เมื่อปี 2561 ให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่พัฒนาประเทศให้ก้าวไปพร้อมกับภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้”

ความน่าสนใจของรางวัล eASIA Award 2019 คือ การคัดสรรผู้ประกอบการหรือบริษัท ชั้นนำที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานและมาตรฐานดีเยี่ยมในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านการนำเข้าส่งออก ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยแล้ว ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับการผลักดัน จาก AFACT ให้เป็นสุดยอดองค์กรต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงและแนะนำผู้ที่สนใจให้สามารถพัฒนาและยกระดับความสามารถได้อย่างถูกต้องยั่งยืน

สุรางคณา กล่าวว่า รางวัลนี้จะช่วยจุดประกายความคิด ลดความซับซ้อนในกระบวนการทำงาน นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน e-Transactions และ e-Commerce รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่สามารถสนับสนุนให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสูงสุด นอกจากนี้ เพื่อการผลักดันเป็นไปอย่างต่อเนื่องที่ประชุมจึงได้มีการส่งมอบ Token เกียรติยศให้กับประเทศมาเลเซีย เพื่อรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการจัดงาน eASIA Award 2020 ต่อไป

สำหรับรางวัล eASIA Award 2019 มีผู้สนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกทั่วเอเชียแปซิฟิก โดยมีองค์กรที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับเอเชียแปซิฟิกรางวัลแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Trade Facilitation and e-Commerce 2. ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาครัฐ หรือ Digital Transformation (Public Sector)

  1. ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาคเอกชน หรือ Digital Transformation (Private Sector) และ 4. ด้านการสร้างโอกาสทางดิจิทัล หรือ Creating Inclusive Digital Opportunities และรางวัลเกียรติยศ หรือ Honorary Award ที่มอบให้กับ ดร.แกรี่ เรง เวง กอง หัวหน้าคณะผู้แทนจากไต้หวัน (Mr. Gary Reng Weng Gong,PhD, Head of Delegate Chinese Taipei) อดีต AFACT Chairman ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดัน การพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียแปซิฟิกและทำให้ AFACT เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

Related Posts