CAAT เผยกลยุทธ์ปี 63 เตรียมพัฒนามาตรฐานการบินโดรนทัดเทียมสากล เล็งคลอดข้อกำหนดใหม่ภายในปีนี้ พร้อมสร้างมาตรฐานสถาบันการบินโดรนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินโดรนเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้การบินโดรนเริ่มแพร่หลายสู่การใช้ประโยชน์ในหลายๆด้านขึ้น โดยที่ผ่านมีการยื่นของใบอนุญาตการบิน(ใบอนุญาตบังคับโดรน) มากกว่า 1 หมื่นราย ทั้งเพื่อการถ่ายภาพ การเกษตร และการสำรวจเส้นทางรถไฟ และการสำรวจสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งหมดใช้บินโดรนเพื่อกิจการภายในเท่านั้น
ขณะที่แนวโน้มการใช้โดรนเพื่อบริการเชิงพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากมองในระดับสากล ที่เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายแล้วทั้งในสหรัฐและยุโรป ที่ ICAO ให้ความสำคัญ ทำให้ CAAT ต้องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินโดรนให้เป็นมาตรฐานสากลที่มองโดรนเป็นอากาศยานที่ไม่ต่างจากเครื่องบินขนาดใหญ่มากขึ้น ทั้งในส่วนของการลงทะเบียน การออกใบอนุญาตบังคับโดรน หรือแม้กระทั่งขอบเขตพื้นที่การบินและหลักเกณฑ์ความปลอดภัยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับทราบและปฎิบัติตามอย่างเร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมเป็นหลัก
เราได้ปรับปรุงกำหนดดังกล่าว และคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดที่พุ่งประเด็นไปที่ผู้ได้รับใบอนุญาตบังคับโดรนเป็นหลัก ทั้งในส่วนของการตรวจสอบประวัติ ความสามารถในการบังคับโดรน ที่ในอนาคตอาจจะต้องผ่านการเรียนหลักสูตรที่ต้องได้มาตรฐานที่รับรองจากสำนักงานฯ และเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยต่อชุมชนอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ในส่วนของการลงทะเบียนโดรนเพื่อครอบครองนั้น แม้ว่าทางสำนักงานจะไม่ได้เป็นผู้ดูแลโดยตรง แต่ได้เชื่อมต่อข้อมูลไปที่ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการใช้คลื่นความถี่ในการใช้งานโดยตรง ซึ่งผู้ที่มีโดรนในครอบครองสามารถขึ้นทะเบียนโดรนได้ที่ กสทช. ก่อนที่จะเข้าขอใบอนุญาตการบังคับโดรนกับซีเอเอทีต่อไป
ทั้งนี้ใบอนุญาตการบังคับโดรนนั้นจะระบุขอบเขตของการใช้งาน จำนวนโดรนที่มีสิทธิ์การใช้จากการระบุหมายเลขเครื่องโดรนที่ได้มีการจดทะเบียนไว้ และการประกันภัยโดรนเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพื้นที่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ารับใบอนุญาตบังคับโดรนแล้วกว่า 1หมื่นราย ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนและบุคคลธรรม แต่มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอเชิงพาณิชย์ เพื่อเปิดให้บริการโดรนสาธารณะ และยังไม่มีการขอเชิงพาณิชย์เพื่อการขนส่งพัสดุแต่อย่างใด
ทั้งนี้ข้อกำหนดของการบังคับใช้โดรน ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน ทำให้ไม่สามารถบินโดรนเช่นเดียวกับการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนได้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีแนวคิดในการนำโดรนเข้ามาพัฒนาการขนส่งพัสดุ หรือแม้กระทั่งการใช้โดรนเพื่อเป็นแท็กซี่ขนส่งบุคคลก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องพิจารณาด้านความปลอดภัยและส่วนที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน
ดังนั้นการปรับปรุงและพัฒนาข้อกำหนดของทางสำนักงานฯ ในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อยกระดับการกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ที่แม้ว่าจะมีขนาดเล็กแต่ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้สามารถรองรับการเติบโตที่มากขึ้นของจำนวนโดรนในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และมีราคาที่ถูกลง ทำให้การใช้งานแพร่หลายมากขึ้น
และอาจจะส่งผลต่อความเสี่ยงในด้านต่างๆเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทาง CAAT จึงได้วางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS License เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิม ให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดของทาง ICAO มากขึ้น
อีกทั้งยังจะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของซีเอเอทีเกิดขึ้น เพื่อให้ใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเสมือนใบเบิกทางให้กับอุตสาหกรรมการบินโดรนสามารถพัฒนาและต่อยอดไปสู่การบินโดรน ที่จะให้บริการเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางสำนักงานจะร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI ในการพิจารณาหลักสูตรและออกใบอนุญาตให้กับโรงเรียนสอนการบินโดรน และพัฒนาต้นแบบสถาบันการฝึกอบรมบินโดรนให้เกิดเป็นมาตรฐานสากลที่ดีต่อไปในอนาคต