___noise___ 1000

ตามซีพีแรมลงใต้ สร้างความยั่งยืนทางอาหาร

ซีพีแรม

ซีพีแรม
วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสติดตาม ซีพีแรม ผู้ผลิตอาหารในเครือกลุ่มซีพีที่นับว่ามีบทบาทสำคัญในโลกของอาหารที่ไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาคแต่เป็นระดับโลกเลยก็ว่าได้ โดยซีพีแรมเองนั้นแม้ว่าจะไม่ใช่หนึ่งในบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการผลิตอาหารหลากหลายชนิด เพื่อส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่นที่เราต่างก็เคยเข้าไปเลือกซื้อมารับประทาน “รับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มมั้ยครับ?” เสียงหวานๆจากน้องๆพนักงานเซเว่นร้องถาม เมื่อเราเข้าสู่ขั้นตอนการชำระเงินหน้าเคาเตอร์

เราเดินทางมาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่เช้าพร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานของซีพีแรม และเดินทางต่อเข้าสู่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 สุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษากระบวนการอนุบาลและรับมอบพันธุ์ปูม้าในระยะ Young Crab ซึ่งเป็นระยะลูกปูม้าที่เหมาะกับการปล่อยลงสู่ทะเลที่มีโอกาสรอดสูง หากว่าในทะเลที่เราไปปล่อยมีที่หลบภัยและอาหารที่เพียงพอสำหรับการเติบโตของลูกปู

โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ซีพีแรม จำกัด พร้อมด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด เพื่อร่วมกันปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าคืนสู่ทะเลกว่า 200,000 ตัว ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจขับเคลื่อน ‘โครงการปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย’ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณปูม้าในพื้นที่บริเวณชายฝั่งจังหวัด สุราษฎร์ธานี และยังเป็นการยกระดับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อการพัฒนาที่ ยั่งยืน  ณ บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งซีพีแรมขึ้นมาในยุคแรก ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนมาอย่างยาวนาน โดยนับตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 30 ปีของบริษัทเป็นต้นมา ก็เกิดแนวคิดของการจัดการ ห่วงโซ่อุปทาน Supply Chain Management เพื่อสร้างความปลอดภัย มั่นคงและยั่งยืนทางอาหารที่เข้มข้นขึ้น จนกลายเป็นปณิธาน 3S ( Safety, Security and Sustainability) อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์กรจวบจนทุกวันนี้

ซีพีแรม
พันธุ์ปูม้า ระยะ Young Crab

ความท้าทายของการพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นภายใต้ S ตัวแรก Safety กลายเป็นแนวทางการทำงานที่สำคัญขององค์กร ที่ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ที่จะต้องสะอาด ปราศจากสารปนเปื้อน ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต และเลยเถิดไปถึงขั้นตอนการคัดสรรวัตถุดิบ การเลือกวัตถุดิบ ที่มีความปลอดภัย สะท้อนปณิธานด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ S ตัวที่สอง Security อันเป็นปณิธานที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ต้องกังวล เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ การเข้าถึงอาหารและการมีอาหารที่เพียงพอ จะสะท้อนความสามารถด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกใบนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

และท้ายที่สุด S ตัวที่สาม Sustainability ความยั่งยืนของอาหาร ที่เป็นปณิธานอันแรงกล้าขององค์กร อันสอดคล้องกับนโยบายสหประชาชาติ SDGs ที่ต้องการให้โลกใบนี้มีความยั่งยืนใน 17 ด้านที่สำคัญ อันประกอบด้วย 1. ขจัดความยากจน 2. ขจัดความหิวโหย 3. มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4. การศึกษาที่เท่าเทียม 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6. การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 7. พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10. ลดความเหลื่อมล้ำ 11. เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 12. แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 13. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14. การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล 15. การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก 16. สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก 17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความท้าทายของซีพีแรมในการเดินหน้ารักษาความยั่งยืนทางอาหาร เป็นอีกหนึ่งหัวใจของแนวทางองค์กรสมัยใหม่ ที่เชื่อว่าเมื่อมีรายได้ก็ต้องตอบแทนการหารายได้นั้น และนั่นเป็นที่มาของการเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการปล่อยพันธุ์ปูม้าที่ได้รับการอนุบาลที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสรอดที่มากขึ้น จากเดิมที่ชาวประมงจะทำได้เพียง การเขี่ยไขปูม้านอกกระดองกลับลงสู่ทะเลเท่านั้น ทำให้โอกาสรอดของปูม้าในระยะตัวอ่อนมีอัตราการรอดที่น้อยจนมีปริมาณที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

และแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีโครงการธนาคารปู ที่เปิดโอกาสให้ชาวประมง สามารถนำปูม้าที่ไข่นอกกระดองเข้ามาฝาก เพื่อให้ศูนย์สามารถนำไข่ดังกล่าวมาอนุบาลเพื่อให้ลูกปูมีโอกาสรอดได้เพิ่มขึ้น ก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเลต่อไป แต่ปัจจุบันจำนวนของชาวประมงที่เข้าสู่โครงการธนาคารปู เริ่มลดน้อยลง ทำให้โครงการดังกล่าวมีประสิทธิผลที่ลดลง แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการอนุบาลให้ลูกปูมีโอกาสรอดมากขึ้น ทำให้ศูนย์ต้องอนุบาลลูกปูให้มีระยะ Young Crab ที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความสามารถในการหลบซ่อนและหาอาหารได้เองตามธรรมชาติ เมื่อนำไปปล่อยหรือเลี้ยงตามวิถีประมงต่อไป

ซีพีแรม

ความร่วมมือดังกล่าว ทำให้วันนี้คณะผู้บริหาร พนักงานและพันธมิตรที่ร่วมโครงการ  ‘โครงการปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย’ มาร่วมกันปล่อยลูกพันธุ์ปูม้ากว่า 2 แสนตัวลงสู่ท้องทะเล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร เมื่อเราทำธุรกิจอาหาร ต้องใช้วัตถุดิบทางทะเล การเพิ่มโอกาสให้สัตว์ทะเลอย่างปูม้าได้เติบโตเข้าสู่วงจรอาหารต่อไป

โดยหลังจากที่คณะได้รับมอบปู Young Crab จำนวน 2 แสนตัว ก็ออกเดินทางสู่เกาะเสร็จ พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อันเป็นเกาะกลางทะเลขนาดเล็กที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย และเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ตามคำบอกเล่าของปราชญ์ทางทะเลที่พาเราไปยังจุดปล่อยพันธุ์ลูกปู ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งในหลายๆโครงการที่ช่วยส่งเสริมปณิธาน 3S ได้อย่างชัดเจน

banner Sample

Related Posts