ลอรีอัล กรุ๊ป รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก 2563 เผยตัวเลขโดยยอดขายลอรีอัล กรุ๊ปลดลง -11.7%[1] ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าพอใจที่มาจากทั้งการปรับตัวรับวิกฤตอย่างยืดหยุ่นของบริษัทฯ รวมถึงการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่เติบโตสูงมากถึง +64.6%[2] ผลประกอบการของลอรีอัลในประเทศจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญด้วยการเติบโตกว่า +30%[2]
ในไตรมาสที่สอง พลังของแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่เป็นตัวช่วยสำคัญให้ลูกค้าก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ทั้งหมดนี้ มาจากความร่วมมือร่วมใจและการทำงานของพนักงานลอรีอัลทั่วโลก ทำให้สามารถสร้างผลประกอบการอันน่าพอใจให้บริษัทฯ ด้วยกำไรถึง +18% ใกล้เคียงกับปี 2019 จำนวนกำไรต่อหุ้นลดลงเพียงเล็กน้อย คงสภาพบัญชีกำไรขาดทุนไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นสูงและต้นทุนที่ต่ำ ไปจนถึงคงไว้ซึ่งงบประมาณการลงทุนด้านการวิจัยและการดำเนินธุรกิจในมูลค่าที่สัมพันธ์กัน
การบริโภคผลิตภัณฑ์ความงามในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปิดธุรกิจร้านค้ากว่าหลายล้านแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ร้านซาลอน ร้านจำหน่ายน้ำหอม ห้างสรรพสินค้า และ ร้านค้าในสนามบิน ก่อให้เกิดวิกฤติด้านความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ จากการที่ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่พวกเขาต้องการได้ชั่วคราว
ภายใต้สถานการณ์นี้ ทุกแผนกของลอรีอัลได้ทำการปรับตัวทางธุรกิจอย่างยอดเยี่ยม โดยแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคได้รับผลกระทบเล็กน้อย ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มเมคอัพเป็นหมวดที่การขายชะลอตัวมากที่สุด ด้านแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงและแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ
แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การปิดร้านค้าเกือบทั้งหมด แต่ก็ยังประสบความสำเร็จในการสร้างยอดขายที่เติบโตได้อย่างน่าพอใจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งผลประกอบการทั้งหมดนั้นนับได้ว่าเติบโตกว่าตลาดความงามโดยรวมในขณะนั้น โดยการเติบโตดังกล่าวมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะสามารถพลิกผันกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
นายฌอง-ปอล แอกง ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลอรีอัล กล่าวว่า “ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ภายใต้วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ลอรีอัล กรุ๊ป ได้แสดงศักยภาพในการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ คือการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงานทั่วโลก ช่วยเหลือคู่ค้าและซัพพลายเออร์ด้วยการชะลอหนี้และอำนวยความสะดวกด้านการเงิน ควบคู่ไปกับสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยหนึ่งในนั้นคือการช่วยบริจาคเจลแอลกอฮอล์และครีมบำรุงทามือกว่า 15 ล้านขวด”
“ในครึ่งปีหลัง ลอรีอัล ยังมุ่งดำเนินธุรกิจเต็มกำลังภายใต้ความมุ่งมั่นที่มาพร้อมความโปร่งใส ความมั่นใจ และการปรับตัว บริษัทฯ ต้องโปร่งใสในการดำเนินงานทุกด้านเพราะวิกฤตโรคระบาดยังคงดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมั่นใจในศักยภาพของบริษัท เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยความงาม การหาซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากจุดจำหน่ายจะง่ายขึ้น และอี-คอมเมิร์ซจะยังคงเป็นหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้
ท้ายที่สุดคือการปรับตัว โดยบริษัทฯ มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขับเคลื่อนธุรกิจในด้านต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจค้าปลีก เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยความงามอีกครั้ง และลอรีอัลมุ่งมั่นที่จะทำกำไรให้สูงกว่าตลาดความงามเมื่อสถานการณ์ด้านสุขอนามัยเอื้ออำนวยมากยิ่งขึ้น และสร้างทำผลกำไรอันน่าพึงพอใจต่อไป”
สรุปยอดขายตามแผนกในครึ่งปีแรก
แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ลดลง -21.3%[1]
แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากวิกฤตโรคระบาดโดยร้านซาลอนทั่วโลกต้องปิดลงกะทันหัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาส แผนกสามารถกลับมามีผลดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ จากการที่ร้านซาลอนสามารถกลับมาเปิดอีกครั้ง หลายประเทศกลับมาเติบโต โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และ จีน แบรนด์เคเรสตาสยังสามารถทำยอดขายเติบโตสูงกว่าตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วงใหม่ในกลุ่ม Genesis และการพัฒนาช่องทางการขายที่รอบด้านอย่างครบวงจร
ช่องทางอี-คอมเมิร์ซเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในครึ่งปีแรก นับเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีถึงการเร่งปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของแผนก การสนับสนุนช่างทำผมในช่วงวิกฤตผ่านการพักชำระหนี้ การให้ความรู้ช่างทำผมผ่านช่องทางออนไลน์ และการสนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลทำความสะอาดมือแก่ร้านซาลอน ยังถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยเสริมแกร่งให้แก่ลอรีอัลในฐานะผู้นำทั้งในตลาดและอุตสาหกรรม
แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค ยอดขายลดลง -9.4%[1]
วิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อกลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพ โดยแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก และ นิกซ์ โปรเฟสชั่นแนล เมคอัพ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ในแผนกยังถือว่าคงตัว สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดูแลเส้นผม แบรนด์การ์นิเย่ ฟรุคติส สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์อาหารผม สำหรับสินค้าในกลุ่มดูแลผิวหน้า ลอรีอัล ปารีส ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าตลาดรวม เป็นผลมาจากการเปิดตัวของเซรั่มกลุ่ม ลอรีอัล ปารีส รีไวทัลลิฟท์
นอกจากนี้แผนกยังได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มทำสีผมด้วยตนเอง เนื่องจากปริมาณการใช้ที่สูงขึ้น แผนกยังสามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในประเทศจีน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเมคอัพจากแบรนด์ 3CE Stylenanda และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในหลากหลายประเทศในทวีปยุโรป นอกจากนั้น ผลการดำเนินงานที่โตขึ้นช่วงครึ่งปีแรก ของลอรีอัล บราซิล ก็นับว่าเป็นผลงานที่น่าประทับใจเช่นกัน
ทั้งนี้ ด้วยความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล บริษัทฯ สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากช่องทางอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทสามารถสร้างยอดขายออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในครึ่งปีแรกในประเทศจีน และ สหรัฐอเมริกา
ยิ่งไปกว่านั้น ทุกภูมิภาคยังได้จัดทำแผนกระตุ้นธุรกิจสำหรับครึ่งปีหลัง โดยให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ การคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง การเดินหน้าแนวคิด “Back to Beauty” และการลงทุนด้านสื่อเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค
แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง ยอดขายลดลง -16.8%[1] ในขณะที่ตลาดความงามชั้นสูงโดยรวมลดลงราว -23%
ด้วยพลังของแบรนด์ชั้นนำ แผนกยังคงได้รับส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบรนด์เจ้าตลาดในผลิตภัณฑ์สกินแคร์ เช่น คีลส์ ลังโคม และ เฮเลน่า รูบินสไตน์ ผลิตภัณฑ์น้ำหอมใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวอย่าง ลิเบอร์ โดย อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์ ก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม สินค้ากลุ่มเมคอัพยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตนี้
แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงกำลังเดินหน้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในทุกภูมิภาค ยกเว้นภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยในช่วงท้ายของครึ่งปีแรก สัญญาณการปรับตัวเริ่มกลับมาดีขึ้นจากการเติบโตของตลาดสินค้าหรูหรา โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและประเทศจีนที่กลับมาเติบโตมากกว่า +30%[2] ขณะที่ฝั่งตะวันตกเช่นทวีปยุโรป (ฝรั่งเศสและเยอรมนี) ก็ได้ช่วงเทศกาลวันแม่และวันพ่อ มาช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากยิ่งขึ้น
การเติบโตในช่องทางอี-คอมเมิร์ซยังเติบโตต่อเนื่องกว่า +65%[2] ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ช่องทางค้าปลีกท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวด บริษัทฯ เชื่อว่าการกลับมาทยอยเปิดธุรกิจร้านค้าปลีกและแผนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั่วโลกในครึ่งปีหลัง จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงฟื้นตัวและสร้างอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดต่อไป
สรุปยอดขายตามโซนในครึ่งปีแรก
โซนตลาดใหม่
เอเชียแปซิฟิก ยอดขายลดลงที่ -3.9%[1] โดยส่วนใหญ่ ทุกประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดในช่วงไตรมาสที่สอง
จีน ยอดขายเพิ่มขึ้น +17.5% โดยตลาดความงามจีนมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สอง ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนสำหรับแบรนด์ดังที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือได้ยังคงมีสูงมาก เทศกาลช้อปปิ้งทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสที่สองนี้ ลอรีอัล ประเทศจีน สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเหนือกว่าภาพรวมตลาด ทั้งยังได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกแผนก
รวมถึงในหมวดผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เมคอัพ และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมอีกด้วย ด้านยอดขายออนไลน์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในไตรมาสแรก โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ยอดขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าบูติกก็กลับมาเติบโตเช่นกัน ซึ่งในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ที่สำคัญในวันที่ 18 มิถุนายน ลอรีอัลได้รับส่วนแบ่งการตลาดเป็นจำนวนมากผ่านกิจกรรมทางดิจิทัล โดย ลอรีอัล ปารีส และ ลังโคม ครองสองอันดับแบรนด์ที่ได้รับความนิยม จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ Tmall อีกด้วย
สำหรับเอเชียแปซิฟิกพื้นที่อื่นๆ สถานการณ์ยังคงมีความแตกต่างกันในหลากหลายประเทศ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากการระบาดของโรค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม สามารถกลับมาเติบโตได้ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ผลิตภัณฑ์เมคอัพยังคงได้รับผลกระทบในประเทศญี่ปุ่นและเอเชียใต้เนื่องจากการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น และจากการหยุดชะงักของธุรกิจการท่องเที่ยว เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ยังคงมียอดขายตามหลังปี 2019 อยู่อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการแพร่ระบาดอย่างเป็นวงกว้าง ก็ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของผู้บริโภคในอินเดียเป็นอย่างมากอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง และแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ยังได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกตลาดหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดผลิตภัณฑ์สกินแคร์ ช่องทางอี-คอมเมิร์ซยังคงเป็นหนึ่งตัวช่วยขับเคลื่อนยอดขายสำคัญให้กับทุกแผนกและตลาด โดยสามารถสร้างการเติบโตได้เกือบ +60%[2] ทั่วภูมิภาค
โซนละตินอเมริกา มียอดขายลดลง -13.9%[1] โดยแต่ละประเทศมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหนึ่งในผลการดำเนินงานที่โดดเด่นอย่างมาก คือแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค และแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยเฉพาะแบรนด์เซราวีในประเทศบราซิล และหลังจากการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทุกพื้นที่กลับมามีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายนจากการที่ร้านค้าสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ควบคู่ไปกับการเติบโตของช่องทางอี-คอมเมิร์ซในไตรมาสที่สอง ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นถึงสามหลัก
ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวก็เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผลิตภัณฑ์ทำสีผมภายใต้แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคเองก็เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่สอง การเติบโตของแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพต้องหยุดชะงัก จากการปิดให้บริการของร้านซาลอนในหลายประเทศ แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางมีความคงตัว ส่วนแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ในพื้นที่นี้
โซนยุโรปตะวันออก: ยอดขายลดลง -12.1%[1] ในขณะที่วิกฤติโรคระบาดมีแนวโน้มดีขึ้นในยุโรปกลาง ช่องทางค้าปลีกส่วนใหญ่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่รัสเซีย ตุรกี และยูเครน ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคระบาดอย่างรวดเร็วและได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากกว่าพื้นที่อื่นๆ มีเพียงแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางเท่านั้นที่เติบโตในไตรมาสที่สอง ขณะที่แผนกอื่นๆ มียอดขายลดลง
โดยเฉพาะแผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ เนื่องจากการหยุดให้บริการของร้านซาลอน อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนได้มีสัญญาณที่ดีถึงการเติบโตอีกครั้งในแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูงและแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่ต่างก็มียอดขายเพิ่มขึ้น ช่องทางอี-คอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยสามารถทำยอดขายได้สูงถึง 16% ของยอดขายทั้งหมด
แอฟริกาและ ตะวันออกกลาง: ยอดขายลดลง -17.4%[1] โดยตะวันออกกลางยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และปากีสถาน จากการปิดร้านค้าปลีกชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นการแพร่ระบาดยังเกิดขึ้นในพื้นที่แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าและแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ทุกแผนกได้รับผลกระทบ โดยมีแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
[1] เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว: อิงตามขอบเขตของทั้งกลุ่มที่เปรียบเทียบได้ และอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
[2] ยอดขายที่เกิดขึ้นผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์ + ยอดขายประมาณการณ์ที่แบรนด์ทำได้ ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายผ่านเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซของร้านค้าปลีกของเรา (ข้อมูลที่ยังไม่สอบบัญชี)