บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย เร่งผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แถลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบการรับรองและมาตรฐาน EV Charging Station
เอ็มจี ถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ให้ความสำคัญกับสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศไทย โดยได้เดินหน้าแผนงานด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าใกล้สังคมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งการแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด รวมทั้งการสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานของทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน เพื่อให้สังคมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยที่ผ่านมามีการลงนามความร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ในการร่วมกันขยายจุดชาร์จไฟเพื่อรองรับปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการร่วมกันส่งเสริมและสร้างสรรค์สังคมยานยนต์ไฟฟ้าให้มีความแพร่หลาย
โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงด้านการพัฒนาระบบการรับรองและมาตรฐานสำหรับ EV Charging Station ผ่านการทดสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้าของเอ็มจี หรือ MG SUPER CHARGE เพื่อให้เป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยและใช้งานสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวกันให้กับระบบการชาร์จไฟฟ้าของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยว่า การร่วมมือสวทช.ในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเมืองไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทย ถือเป็นการยกระดับองค์ความรู้ สร้างบรรทัดฐานระบบการชาร์จและเสริมความแข็งแกร่งให้กับการเติบโตของ EV Ecosystem หรือระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอีกขั้น
วันนี้เราต่างต้องการให้คนไทยมีความสบายใจในการเลือกและใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘สถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อรับรองความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มาตรฐาน” ของสถานีชาร์จเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้นและให้คนไทยรู้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าใช้งานง่ายเพียงใด อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศและยกระดับประเทศไทยไปสู่สังคมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปอีกขั้น
ด้านดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “จากนโยบายของภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงานที่มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) มีเป้าหมายให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคันภายในปี พ.ศ. 2579 ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่าง สวทช. และ เอ็มจี ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) ให้มีศักยภาพและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนให้เกิดสังคมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เราเห็นถึงความตั้งใจของเอ็มจีในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่ระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ EV Charger ทั้งระดับประเทศไทย และระดับสากล โดย สวทช. ได้ร่วมดำเนินการผ่านการทดสอบของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC พร้อมกันนี้ สวทช. ยังได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการใช้งานห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ และ EV Charger ในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานทดสอบในประเทศ เพื่อสนองนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้ครบวงจรอีกด้วย
นอกจากนี้ ทางเอ็มจียังได้ดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จจำนวน 3 แห่ง ให้กับ สวทช. ซึ่งจะกระจายติดตั้งที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี อาคารวิจัยโยธี ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ และศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการให้บริการผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุม