Reinventing University หรือโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในโครงการหลักที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ให้มีทักษะเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ด้วยแนวคิดของการเข้าเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ให้สามารถมองเห็นจุดเด่นและยกระดับศักยภาพการเรียนการสอนขึ้นสู่ระดับโลก ซึ่งจะเดินเคียงข้างสถาบันอุดมศึกษาไปตลอดเส้นทางเพื่อปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมายของการพัฒนาหลักสูตรและการดึงผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนได้อย่างอิสระ งานนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสคุยกับ นาย พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังของแนวคิดโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) และเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่สำคัญของการจัดตั้ง Higher Education Sandbox ซึ่งเป็นประตูลัดไปสู่การพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่รวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน
- – อว. ติดตามโครงการ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย กลุ่มราชภัฏภาคใต้
- – แม่โจ้ เผยน้ำมันกัญชาในตลาด เสี่ยงปนเปื้อนสูง ใช้เกินขนาด
นาย พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) คณะทำงานและเลขานุการ คณะทำงานการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) กล่าวว่า แนวคิดของการทำโครงการ Reinventing University หรือการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ก็เป็นการพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้เดินหน้าสู่ความเป็นเลิศ ด้านใดด้านหนึ่งที่ชัดเจน เละต่อยอดไปสู่เวทีระดับสากล และสะท้อนกลับมาสู่การพัฒนากำลังคนให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ซึ่งแต่เดิมก็ต้องยอมรับว่าเรามีข้อจำกัดมากมายในการพัฒนาการเรียนการสอน แต่ละมหาวิทยาลัย หรือคณะก็มีการจัดการที่แยกอิสระจากกัน ทำให้การผลิตบุคลากรขั้นสูงออกสู่ตลาดแรงงานไม่ตรงกับความต้องการสักเท่าไหร่ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งต้นเหตุมาจากข้อจำกัดของการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอน และเมื่อเราทำโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะสนับสนุนทุนเริ่มต้น คอยประคองและแนะแนวการเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศให้กับมหาวิทยาลัยแล้ว จึงได้เริ่มจัดทำโครงการ Higher Education Sandbox เพื่อเป็นประตูลัดไปสู่การจัดทำหลักสูตรเร่งด่วนในการพัฒนากำลังคนที่มีความต้องการชัดเจนในระยะเวลาอันสั้นได้อย่างถูกต้อง
เจาะลึก Higher Education Sandbox ประตูลัดสู่หลักสูตรเร่งด่วน
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดของการทำแซนด์บ็อกซ์ ก็เพื่อเป็นโครงการทดลองผลิตกำลังคนคุณภาพสูง ตามความต้องการของประเทศและภาคเอกชน ซึ่งจากเดิมการเปิดหลักสูตรปกติของมหาวิทยาลัยจะต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรอุดมศึกษา และต้องใช้กระบวนการและขั้นตอนที่เยอะมาก อาทิ การต้องมีจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรตามที่กำหนด จะต้องเรียนให้ครบหน่วยกิต จะต้องเรียน 4 ปี อาจารย์ที่จะเข้ามาสอนจะต้องเป็นอาจารย์ประจำเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้หลักสูตรที่ผลิตออกมามีข้อจำกัดที่ไม่คล่องตัว
Higher Education Sandbox จึงเป็นโครงการพิเศษที่จะช่วยให้สามารถขอยกเว้นเกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้ได้ เสมือนหนึ่งเป็นช่องทางพิเศษหรือประตูลัดในการผลิตกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างทันท่วงที ซึ่งมหาวิทยาลัยจะสามารถของยกเว้นได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับหลักสูตร เพียงแค่มหาวิทยาลัยแจ้งความจำเป็นเข้ามา อาทิเช่น เมื่อต้องการผลิตกำลังคนทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ หรือทางด้านของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งในประเทศอาจจะยังไม่มีอาจารย์ประจำที่เพียงพอต่อการเปิดหลักสูตร เราสามารถที่จะไปเอาผู้ประกอบการหรือผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน ทั้งในหรือนอกประเทศเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้เลย ซึ่งหากเป็นเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรทั่วไปก็จะทำไม่ได้
แต่กระนั้นการแจ้งเรื่องเข้ามาก็จะต้องระบุระยะเวลาหรือจำนวนรุ่นการผลิตที่ชัดเจน และจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนอย่างไร และเมื่อผลิตออกมาแล้วจะต้องเป็นบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง ภายใต้เป้าหมายของการผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่มีความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งทางกระทรวงฯก็มีการหารือกับทางบีโอไอว่าต้องการกำลังคนประมาณ 5,000 คนในระยะเวลา 5 ปี แต่การผลิตกำลังคนในระยะเวลา 5 ปี มหาวิทยาลัยเดียวไม่สามารถผลิตได้ทัน จึงได้เกิดความร่วมมือกับสภาคณบดีวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพื่อเข้ามาช่วยรวบรวมการผลิตกำลังพลด้านนี้โดยเฉพาะ
ทั้งนี้หลักสูตรที่จะเข้าร่วมแซนด์บ็อกซ์ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงหลักสูตร 4 ปีเท่านั้น บางทีอาจจะเอาคนที่เคยจบปริญญาตรีเข้ามาเรียนเพิ่มอีก 1-2 ปี เพื่อเป็นการผลิตกำลังพลเฉพาะทาง และก็ไม่ได้จำกัดการเข้าร่วมของมหาวิทยาลัยของรัฐหรือที่เข้าร่วมโครงการ Reinventing University แต่อย่างใด มหาวิทยาลัยที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงก็สามารถเข้าร่วมได้หมดเลย หากเข้าเงื่อนไขของการขอยกเว้นหลักสูตรก็สามารถเข้ามาขอเข้าแซนด์บ็อกซ์ได้ทันที
โดยระยะเวลาในการขอนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่การทำข้อเสนอในเชิงหลักการ ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ของความต้องการกำลังพลที่แท้จริง แนวทางการเรียนการสอน และการพัฒนาทักษะขั้นสูง แล้วทางคณะกรรมการจะมาพิจารณาความจำเป็นในการเข้าแซนด์บ็อกซ์ภายในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งหากสามารถเข้าเกณฑ์การเข้าร่วมก็จะให้มหาวิทยาลัยทำหลักสูตรเข้ามาแล้วจึงใช้ระยะเวลาพิจารณาอีกไม่เกิน 2 เดือน โดยรวมก็จะใช้เวลาในการจัดทำหลักสูตรจนถึงการอนุมัติราว 4-5 เดือน ซึ่งจะรวดเร็วกกว่าปกติที่จะต้องผ่านขั้นตอนที่มากกว่านี้
และเมื่อจบหลักสูตรไปแล้วก็จะมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าปริญญาปกติ แต่เนื่องจากหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ถูกประกาศใช้ ภายใต้ข้อกำหนด มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัตติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติจบหลักสูตรจะเป็นคณะรัฐมนตรี และกฎหมายก็ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการจัดการศึกษาเฉพาะกิจ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นประธานใช้อำนาจแทน ครม.อนุมัติ จึงแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป
ปัจจุบันเรามีการทำเพิ่มเติมในส่วนของบางหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ วิศวะ พยาบาล แพทย์ เภสัช เนติบัณฑิตสภาเป็นต้น ซึ่งก็กำลังหารือกับสภาวิชาชีพเหล่านี้ถึงแนวทางการทำให้หลักสูตรนี้ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น และเมื่อจบหลักสูตรแล้วก็จะได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ เพื่อสอบขอรับใบอนุญาตการทำงานในแต่ละสาขาอาชีพต่อไป
ซึ่งตอนนี้หลักสูตรที่รับเข้าในวาระเสนอหลักการมีอยู่ 3 หลักสูตรด้วยกัน โดยเป็นเรื่องของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เรื่องปัญญาประดิษฐ์ และเรื่่องสมาร์ทโซลูชั่น นอกจากนี้ยังมีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความจำเป็นของการเข้าแซนด์บ็อกซ์อีกราว 10 หลักสูตร ซึ่งเชื่อว่าช่องทางแซนด์บ็อกซ์น่าจะช่วยเพิ่มกำลังพลขั้นสูงได้ไม่น้อยกว่า 500-1,000 คนในแต่ละอุตสาหกรรมที่ตั้งไว้ 5 กลุ่มหลักของการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า Reinventing University หรือโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เริ่มมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่าจะยังอาศัยเงินทุนจากหน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุนการทำโครงการ แต่ด้วยแนวคิดของการบุกเบิกแนวทางของการพัฒนาการอุดมศึกษารูปแบบใหม่ ก็น่าสนใจว่า โครงการที่มีอุดมการณ์ชัดเจนเช่นนี้ เมื่อผสานกับประตูลัดของการขออนุมัติหลักสูตรอย่าง Higher Education Sandbox แล้วจะสามารถพลิกโฉมหน้าของการผลิตกำลังคนของประเทศได้มากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ ๆ บทบาทของการทำงานปีแรก เราก็เริ่มเห็นบอร์ดของ The Impact Ranking 2022 ที่เป็นการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกอันสะท้อนแนวคิดของ UN’s SDGs เริ่มมีมหาวิทยาลัยไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวกันแล้ว หากว่าโครงการนี้สามารถจัดตั้งกองทุนของตนเองได้สำเร็จในปี 2567 ก็เชื่อว่าน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยไทยเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน