ความคืบหน้าล่าสุดของการ “ควบรวม ทรู-ดีแทค ” ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว โดย ทรู-ดีแทค กอดคอกันจัดแถลงข่าวตอกย้ำความจำเป็นของการควบรวมกิจการเข้าด้วยกันให้ได้เร็วที่สุด ด้วยเหตุผลของสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการยอมรับความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 2 กิจการว่ามีการถดถอยลงจริง การรวมกันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ยืนยันว่าการแข่งขันของผู้แข็งแกร่งในตลาด 2 ราย ดีกว่าปล่อยให้มีผู้แข็งแรงเพียงรายเดียวในตลาดสู้กับผู้ที่อ่อนแอกว่า 2 ราย เชื่อการกำกับดูแลที่เข้มข้นในปัจจุบันสร้างความเป็นธรรมด้านราคาและการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมได้อย่างแน่นอน
- – AGC Group ประกาศควบรวมและจัดตั้งบริษัทใหม่ ขยายกำลังผลิตโซดาไฟและพีวีซี
- – ย้อนรอย MCMC มาเลเซีย อนุมัติควบรวม Celcom Digi ภายใต้เงื่อนไข
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกการแข่งขันที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีรายได้ที่ลดลงทุกราย แต่การลงทุนกลับสูงขึ้นจากการที่ต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีตลอด ไม่ว่าจะเป็น 3G ไป 4G ไป 5G หรือไป 6G ในอนาคต อีกทั้งรูปแบบของรายได้ก็เปลี่ยนไปมา บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เข้ามามีส่วนแบ่งรายได้ในพื้นที่ของเทเลคอมมากขึ้น ทำให้ทั้ง 2องค์กรมีศักยภาพการแข่งขันที่ลดลง
ขณะที่การลงทุนด้าน 5G มีภาระหนี้สินที่สูงขึ้น การลงทุนพัฒนาโครงข่ายจึงทำได้ไม่เต็มที่และไม่ต่อเนื่อง ทำให้เราต้องกลับมาดูว่า “การควบรวม” จะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และความสามารถในการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีที่มากขึ้น
หากมองว่าเป็นเพียงแค่การควบรวมแล้วจะทำให้เรามีอำนาจเหนือตลาดนั้น ก็ขอยืนยันว่าการควบรวมครั้งนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพก่อนที่เราจะถดถอยกันไปมากกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลดีในหลายๆ ส่วน ทั้งการเพิ่มโอกาสลดค่า Herfindahl-Hirschman Index (HHI) หรือดัชนีวัดความรุนแรงการแข่งขันในธุรกิจให้ต่ำกว่าปัจจุบัน หากมีเงื่อนไขของการเปิดโครงข่ายให้บริการ MVNO มากขึ้น ซึ่งเราก็ยินดีให้รายอื่นเข้ามาใช้ MVNO เมื่อโครงข่ายมีความพร้อม อีกทั้งการควบรวมยังจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายบริการให้ครอบคลุมได้ทั่วประเทศ เพราะการรวมกันจะทำให้มีเสาสัญญาณมากถึง 5 หมื่นเสา ครอบคลุมการใช้งานของพื้นที่ที่มากขึ้น
และเกิดประโยชน์สูงสุดในการเชื่อมโยงคลื่นความถี่ของทั้งคู่เมื่อถูกนำมารวมกัน อีกทั้งการให้บริการลูกค้าผ่านศูนย์บริการของทั้งทรูและดีแทค บริการอีเซอร์วิส ตลอดจนคอลเซ็นเตอร์ของทั้ง 2 บริษัทที่รวมกันแล้วมีกว่า 5,200 คน ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมผู้เชี่ยวชาญ และการลงทุนต่อเนื่องในโครงข่าย 5G
หากยังกังวลเรื่องของราคาที่จะไม่มีการแข่งขัน ทรูและดีแทค ยืนยันว่าราคาให้บริการ ณ ปัจจุบัน ถูกควบคุมโดย กสทช. อยู่แล้ว ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีราคาการให้บริการมือถือที่ต่ำที่สุดในโลก หรือหากเป็นรองก็จะมีเพียงแค่ประเทศอินเดียเท่านั้นที่มีราคาถูกกว่า จะเห็นได้ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ กทช. จวบจน กสทช. การบริการโทรคมนาคมในประเทศไทยมีการกำกับดูแลเรื่องของราคาค่าบริการขั้นต้นกันอยู่แล้ว
“การแข่งขันที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้แข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของผู้ร่วมแข่งขันที่ทัดเทียมกันด้วย ซึ่งการมี 2 ผู้แข่งขันที่แข็งแกร่ง ย่อมดีกว่ามีเพียงแค่ 1 ราย ที่แข็งแรง แข่งขันกับ 2 รายที่อ่อนแอ”
การควบรวมครั้งนี้จะมีการนำสิทธิประโยชน์ที่ดีของทั้งสองบริษัทมานำเสนอให้กับผู้บริโภค อีกทั้งการผนึกกำลังทั้งบุคลากรและบริการ ตลอดจนความสามารถด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีใหม่ของทั้งสองบริษัทก็จะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย
ด้านนายซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นความตั้งใจในการจะพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ทางด้านเทคโนโลยีที่ดี เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย เพื่อเป้าหมายของการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของภูมิภาคอย่างแท้จริง ยืนยันว่าการควบรวมครั้งนี้ไม่ได้มีใครซื้อใคร แต่เป็นการลงทุนร่วมกัน ด้วยสัดส่วนของหุ้นส่วนที่เท่ากันราว 30%
ปัจจุบันประเทศไทยมีโอกาสในการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีอีกมาก เนื่องจากคนไทยกว่า 9 ใน 10 คนนั้น พบว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้จำนวนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังพบว่ามีอัตราผู้ซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในข่วงวิกฤตโควิด ด้วยมูลค่ากว่า 3หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2025 มูลค่าการซื้อขายจะเติบโตขึ้นสูงถึงกว่า 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพในการขึ้นเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของภูมิภาคได้อย่างแน่นอน ด้วยแรงส่งของภาครัฐ ทั้งการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโตภายใต้แผนพัฒนา “ไทยแลนด์ 4.0” และการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติมาเข้าร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยี และการเปิดให้มีการพัฒนาเครือข่าย 5G แต่ยังติดอยู่บางอย่าง ซึ่งถ้าดูจากความสามารถของระบบนิเวศน์ที่จะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศไทยแล้ว เราตกมาอยู่ที่อันดับ 11 ของภูมิภาคเอเชีย จะเห็นว่าเรามีการส่งเสริมด้านสตาร์ทอัพได้น้อยกว่าเวียดนาม โดยในปี 2564 เอเชียตะวั
นออกเฉียงใต้มีการลงทุนสูงสุดในสตาร์ทอัพด้ านเทคโนโลยีประมาณ 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านสตาร์ทอัพอยู่เพียงแค่ 3%เท่านั้น และประเทศไทยยังมียูนิคอร์นอยู่เพียงแค่ 3 รายเท่านั้น
การควบรวมกันครั้งนี้ ส่วนหนึ่งตั้งเป้าที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์ด้านสตาร์ทอัพของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ และตั้งกองทุน Venture Capital ด้วยเงินลงทุนตั้งต้นราว 7.3 พันล้านบาท (200 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่างจริงจัง ผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ พร้อมการส่งเสริมให้สามารถขยายออกไปสู่ระดับภูมิภาคได้ ด้วยศักยภาพของกลุ่มเทเลนอร์และกลุ่มซีพีที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เพื่อให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่แถวหน้าด้านเทคโนโลยีของภูมิภาคให้ได้เร็วที่สุด
โดยการส่งเสริมจะสนับสนุนเทรนด์เทคโนโลยี 4 ส่วนหลัก ทั้งเรื่องของ 5G ที่จะส่งเสริมและเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจใหม่ เรื่องของ Edge Cloud ที่รองรับการเติบโตของโลกข้อมูลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น IoT ที่จะสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่แห่งอนาคต และด้าน Cyber Security ที่จะกลายเป็นประเด็นสำคัญของการเติบโตในโลกของเทคโนโลยี ความร่วมมือกันครั้งนี้ จึงนับว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดให้กับผู้บริโภคชาวไทย นายซิคเว่ กล่าว
ทั้งนี้ TheReporterAsia เห็นด้วยว่าปัจจุบันสภาพการแข่งขันของโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การโทรผ่านเบอร์มือถือมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายรายที่เปิดให้บริการข้อความแชท หรือโทรผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่แต่อย่างใด และประเทศไทยก็มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ช่องทางรายได้ของผู้ให้บริการมือถือลดลง หรือถูกเทไปที่การให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก สวนทางกับการลงทุนด้านเครือข่ายที่ยังต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตนั้นมีจำนวนที่มากกว่า สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปิดการเชื่อมต่อมือถือกับเครือข่ายไวไฟเมื่อเข้าพื้นที่ที่สามารถใช้บริการได้ ยิ่งส่งผลให้จำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือลดลงตาม
ซึ่งหากพิจารณาจากการใช้บริการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะเห็นได้ว่า รูปแบบการแข่งขันของผู้ให้บริการมือถือที่ทั้งทรูและดีแทคอ้างว่าเปลี่ยนแปลงนั้น ก็นับว่ามีข้อเท็จจริง และส่งผลให้บริษัททั้งคู่มีความสามารถของการแข่งขันถดถอยลง ดังจะเห็นได้จากช่วงการประมูลใบอนุญาตล่าสุดที่มีการแข่งขันกันประมูลน้อยลงเป็นอย่างมาก จนต้องร้องขอการควบรวมเพื่อประคองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาพรวมของโลกเทคโนโลยีในประเทศไทยอีกครั้ง รอก็เพียงแต่หน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. ว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไรเพื่อป้องกันการมีอำนาจอยู่เหนือตลาดหากมีการควบรวมกันได้สำเร็จอย่างที่หลายฝ่ายกังวลกัน หรือจะปล่อยให้ตายไปทั้งคู่แล้วเหลือเพียงรายเดียวเท่านั้น
และหากย้อนไปหลังการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่เปิดประมูลกันอย่างคึกโครมอยู่บ่อยครั้ง เพื่อหาเงินเข้ารัฐในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าการแข่งขันด้านราคาการให้บริการไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนช่วงก่อนประมูลเลย แต่กระนั้นราคาของการให้บริการก็ยังต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอยู่นั่นเอง การกลัวว่าราคาค่าบริการจะสูงขึ้นหากไม่มีคู่แข่งขันที่มากพอ จึงน่าคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นแค่วลีประวิงเวลาหรือการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมกันแน่